นอนกรน อันตรายแค่ไหน?

     นอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วเสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือบางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ จนทำให้เมื่อลมหายใจผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว เกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังขึ้น อาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นนี้อาจเป็นเพียงบางส่วน หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้เป็นระยะๆ ซึ่งเราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า “โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA)” หรือที่นิยมเรียกง่ายๆ ว่า  “โรคหยุดหายใจขณะหลับ”  ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น เป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์และอัมพาต ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความง่วงนอนมากผิดปกติ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญอย่างมากต่อผู้นอนร่วมห้อง เกิดเป็นปัญหาทางครอบครัวหรือสังคม ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอายและเสียบุคลิกภาพได้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ หากมีการหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก อาจทำให้มีความผิดปกติของพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา เกิดพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ปัสสาวะรดที่นอน มีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมสำหรับเด็กได้  

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

     คาดว่าพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของผู้ชายหรือร้อยละ 2 ของผู้หญิงวัยทำงาน และพบได้มากกว่าในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

  • นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
  • รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย มีอาการไม่สดชื่น
  • คอแห้ง
  • ปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า 
  • ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
  • หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี
  • มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอและมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วงๆ

#ศูนย์หู คอ จมูก #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #นอนกรน #หยุดหายใจขณะหลับ #ความดันโลหิตสูง #โรคหลอดเลือดหัวใจ #โรคหลอดเลือดสมอง #ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง #เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ #ง่วงนอนมากผิดปกติ #Obstructive Sleep Apnea

     ในเด็ก หากบุตรหลานของท่านนอนกรนดังเป็นประจำ หรือกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อยๆ อาจมีปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย ลักษณะเหล่านี้จึงสงสัยได้ว่าเด็กอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

การตรวจวินิจฉัย 

     หากสงสัยว่ามีปัญหาดังกล่าว ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับคู่สมรสหรือผู้ที่สังเกตเห็นอาการของท่านขณะนอน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยดังนี้

     1. ท่านจะได้รับแบบสอบถามประวัติที่เกี่ยวกับสุขภาพการนอนของท่าน (Sleep History) หลังจากนั้นแพทย์จะทบทวนและซักถามอาการต่างๆ รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Medical History)

     2. ท่านจะได้รับการตรวจร่างกาย ตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร และความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอหรือรอบเอว หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายบริเวณศีรษะ ใบหน้า คอ จมูก และช่องปากอย่างละเอียดเพื่อประเมินลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปอด หัวใจ หรือระบบอื่นๆ ในส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้อง

     3. ในหลายกรณีอาจต้องตรวจทางจมูกและลำคอด้วยการส่องกล้อง (Endoscopy) และส่งเอกซเรย์ (X-ray) บริเวณศีรษะ ลำคอ หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การเจาะเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ ตามความจำเป็น

     4. ท่านอาจได้รับการแนะนำให้ตรวจสุขภาพขณะนอนหลับด้วยเครื่อง Polysomnography หรือเรียกง่ายๆ ว่า Sleep Lab Study ซึ่งเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ รอบตา ใบหน้า และบริเวณขา (EOG and EMG) วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูก วัดรอบอกและรอบท้อง รวมถึงการวัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรนด้วยไมโครโฟนขนาดเล็ก โดยจะบันทึกภาพวิดีโอไว้เพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับต่อไป

#ศูนย์หู คอ จมูก #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #นอนกรน #หยุดหายใจขณะหลับ #ความดันโลหิตสูง #โรคหลอดเลือดหัวใจ #โรคหลอดเลือดสมอง #ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง #เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ #ง่วงนอนมากผิดปกติ #Obstructive Sleep Apnea

แนวทางการรักษา

     แนวทางการรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรง รวมถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่พบ ซึ่งแพทย์จะให้คำอธิบายหลังจากตรวจยืนยันในข้างต้นแล้วและพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละราย

     1. การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ งดเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือคลายกล้ามเนื้อ งดเว้นดื่มชา กาแฟ และหยุดสูบบุหรี่ในช่วงบ่าย ที่สำคัญคือ ในรายที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  

     2. การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรืออื่นๆ ซึ่งควรได้รับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป

     3. การรักษาจำเพาะ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

          3.1 การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) โดยเครื่องมือที่ “ซีแพ็บ” (CPAP) มีหลักการ คือ เครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูกและหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่จะเปิดช่องคอซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลาขณะนอนหลับ ในกลุ่มนี้มีหลายแบบ อาจเป็นแบบธรรมดา แบบความดันลม 2 ระดับ (BiPAP) หรือแบบอัตโนมัติ (Auto-PAP) การรักษาด้วยวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลและมีความปลอดภัยสูง หากใช้เครื่องได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องตลอดทุกคืน แต่ละแบบมีค่าใช้จ่าย ข้อดี ข้อเสียหรือข้อจำกัดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

          3.2 การใช้เครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) หลักการ คือ ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟันเพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด มีข้อดีข้อเสีย หรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน

          3.3 การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) กล่าวโดยรวมแล้วการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแต่ละวิธีได้ผลดีไม่เท่ากัน และอาจมีข้อดีข้อเสียที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดหลายวิธี ซึ่งมีข้อดี ข้อเสียหรือความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

               - การผ่าตัดจมูก เช่น ใช้คลื่นวิทยุเพื่อลดขนาดของเยื่อบุเทอร์บิเนตอันล่าง (Radiofrequency) หรือผ่าตัดเพื่อดัดผนังกั้นช่องจมูกในรายที่คดมาก (Septoplasty) รวมไปถึงการผ่าตัดริดสีดวงจมูกหรือไซนัสอักเสบ เฉพาะในรายที่มีปัญหาดังกล่าว

               - การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) และหรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoidectomy) วิธีนี้มีประโยชน์กับผู้ที่มีต่อมทอนซิลโตมาก หรือในเด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลโต

               - การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty หรือ UPPP) ปัจจุบันการผ่าตัดแบบนี้มีหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องตัดลิ้นไก่ออกทั้งหมด หลักการคือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของลิ้นไก่และขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องเพดานหย่อนหรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ

               - การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อลดขนาดของลิ้น หรือการผ่าตัดดึงขากรรไกรล่างบางส่วนมาด้านหน้า วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอุดกั้นบริเวณโคนลิ้น

               - การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกรทั้งบนล่างมาด้านหน้า (Maxillomandibular Advancement: MMA) เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง วิธีนี้เป็นการผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ แพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโดยตรง การเจาะคอ (Tracheostomy) เป็นการรักษาที่ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องมีรูด้านหน้าลำคอและใส่ท่อเพื่อการหายใจ จึงมักเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

               - การลดเสียงกรนด้วยเทคโนโลยีใหม่และไม่ต้องดมยาสลบ กลุ่มการรักษาด้วยวิธีนี้มีหลายวิธีมาก ได้แก่ การใช้คลื่นความถี่วิทยุบริเวณเพดานอ่อน (Radiofrequency palatoplasty), การฝังไหมพิลล่า (Pillar Implantation) การยิงเลเซอร์เพดานอ่อน (Laser Assisted Uvulopalatoplasty, LAUP) เป็นต้น แต่ละอย่างเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาเพียง 10 - 15 นาทีหลังการฉีดยาชาเฉพาะที่ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มการรักษานี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจหรือผู้ที่มีอาการรุนแรงน้อยเท่านั้น

     การนอนกรน อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยที่ท่านไม่รู้ตัว  คือ โรคหยุดหายใจขณะหลับ  ซึ่งสามารถรักษาได้และช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้ไม่มากก็น้อย  ดังนั้นหากท่านหรือคู่สมรสและบุตรหลานของท่านนอนกรนดังมากเป็นประจำ  ท่านอาจพิจารณาเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 3 โซน D

     นอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วเสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือบางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ จนทำให้เมื่อลมหายใจผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว เกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังขึ้น อาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นนี้อาจเป็นเพียงบางส่วน หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้เป็นระยะๆ ซึ่งเราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า “โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA)” หรือที่นิยมเรียกง่ายๆ ว่า  “โรคหยุดหายใจขณะหลับ”  ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น เป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์และอัมพาต ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความง่วงนอนมากผิดปกติ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญอย่างมากต่อผู้นอนร่วมห้อง เกิดเป็นปัญหาทางครอบครัวหรือสังคม ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอายและเสียบุคลิกภาพได้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ หากมีการหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก อาจทำให้มีความผิดปกติของพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา เกิดพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ปัสสาวะรดที่นอน มีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมสำหรับเด็กได้  

โรคหยุดหายใจขณะหลับ

     คาดว่าพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของผู้ชายหรือร้อยละ 2 ของผู้หญิงวัยทำงาน และพบได้มากกว่าในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

  • นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
  • รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย มีอาการไม่สดชื่น
  • คอแห้ง
  • ปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า 
  • ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
  • หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี
  • มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอและมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วงๆ

#ศูนย์หู คอ จมูก #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #นอนกรน #หยุดหายใจขณะหลับ #ความดันโลหิตสูง #โรคหลอดเลือดหัวใจ #โรคหลอดเลือดสมอง #ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง #เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ #ง่วงนอนมากผิดปกติ #Obstructive Sleep Apnea

     ในเด็ก หากบุตรหลานของท่านนอนกรนดังเป็นประจำ หรือกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อยๆ อาจมีปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย ลักษณะเหล่านี้จึงสงสัยได้ว่าเด็กอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

การตรวจวินิจฉัย 

     หากสงสัยว่ามีปัญหาดังกล่าว ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับคู่สมรสหรือผู้ที่สังเกตเห็นอาการของท่านขณะนอน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยดังนี้

     1. ท่านจะได้รับแบบสอบถามประวัติที่เกี่ยวกับสุขภาพการนอนของท่าน (Sleep History) หลังจากนั้นแพทย์จะทบทวนและซักถามอาการต่างๆ รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Medical History)

     2. ท่านจะได้รับการตรวจร่างกาย ตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร และความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอหรือรอบเอว หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายบริเวณศีรษะ ใบหน้า คอ จมูก และช่องปากอย่างละเอียดเพื่อประเมินลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ปอด หัวใจ หรือระบบอื่นๆ ในส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้อง

     3. ในหลายกรณีอาจต้องตรวจทางจมูกและลำคอด้วยการส่องกล้อง (Endoscopy) และส่งเอกซเรย์ (X-ray) บริเวณศีรษะ ลำคอ หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การเจาะเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ ตามความจำเป็น

     4. ท่านอาจได้รับการแนะนำให้ตรวจสุขภาพขณะนอนหลับด้วยเครื่อง Polysomnography หรือเรียกง่ายๆ ว่า Sleep Lab Study ซึ่งเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ รอบตา ใบหน้า และบริเวณขา (EOG and EMG) วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูก วัดรอบอกและรอบท้อง รวมถึงการวัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรนด้วยไมโครโฟนขนาดเล็ก โดยจะบันทึกภาพวิดีโอไว้เพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับต่อไป

#ศูนย์หู คอ จมูก #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #นอนกรน #หยุดหายใจขณะหลับ #ความดันโลหิตสูง #โรคหลอดเลือดหัวใจ #โรคหลอดเลือดสมอง #ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง #เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ #ง่วงนอนมากผิดปกติ #Obstructive Sleep Apnea

แนวทางการรักษา

     แนวทางการรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรง รวมถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่พบ ซึ่งแพทย์จะให้คำอธิบายหลังจากตรวจยืนยันในข้างต้นแล้วและพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละราย

     1. การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้พอเพียง เข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ งดเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือคลายกล้ามเนื้อ งดเว้นดื่มชา กาแฟ และหยุดสูบบุหรี่ในช่วงบ่าย ที่สำคัญคือ ในรายที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  

     2. การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรืออื่นๆ ซึ่งควรได้รับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป

     3. การรักษาจำเพาะ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

          3.1 การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) โดยเครื่องมือที่ “ซีแพ็บ” (CPAP) มีหลักการ คือ เครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูกและหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่จะเปิดช่องคอซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลาขณะนอนหลับ ในกลุ่มนี้มีหลายแบบ อาจเป็นแบบธรรมดา แบบความดันลม 2 ระดับ (BiPAP) หรือแบบอัตโนมัติ (Auto-PAP) การรักษาด้วยวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลและมีความปลอดภัยสูง หากใช้เครื่องได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องตลอดทุกคืน แต่ละแบบมีค่าใช้จ่าย ข้อดี ข้อเสียหรือข้อจำกัดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

          3.2 การใช้เครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) หลักการ คือ ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟันเพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด มีข้อดีข้อเสีย หรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน

          3.3 การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) กล่าวโดยรวมแล้วการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแต่ละวิธีได้ผลดีไม่เท่ากัน และอาจมีข้อดีข้อเสียที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดหลายวิธี ซึ่งมีข้อดี ข้อเสียหรือความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

               - การผ่าตัดจมูก เช่น ใช้คลื่นวิทยุเพื่อลดขนาดของเยื่อบุเทอร์บิเนตอันล่าง (Radiofrequency) หรือผ่าตัดเพื่อดัดผนังกั้นช่องจมูกในรายที่คดมาก (Septoplasty) รวมไปถึงการผ่าตัดริดสีดวงจมูกหรือไซนัสอักเสบ เฉพาะในรายที่มีปัญหาดังกล่าว

               - การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) และหรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoidectomy) วิธีนี้มีประโยชน์กับผู้ที่มีต่อมทอนซิลโตมาก หรือในเด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลโต

               - การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty หรือ UPPP) ปัจจุบันการผ่าตัดแบบนี้มีหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องตัดลิ้นไก่ออกทั้งหมด หลักการคือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของลิ้นไก่และขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องเพดานหย่อนหรือลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ

               - การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อลดขนาดของลิ้น หรือการผ่าตัดดึงขากรรไกรล่างบางส่วนมาด้านหน้า วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอุดกั้นบริเวณโคนลิ้น

               - การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกรทั้งบนล่างมาด้านหน้า (Maxillomandibular Advancement: MMA) เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง วิธีนี้เป็นการผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ แพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยโดยตรง การเจาะคอ (Tracheostomy) เป็นการรักษาที่ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องมีรูด้านหน้าลำคอและใส่ท่อเพื่อการหายใจ จึงมักเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล

               - การลดเสียงกรนด้วยเทคโนโลยีใหม่และไม่ต้องดมยาสลบ กลุ่มการรักษาด้วยวิธีนี้มีหลายวิธีมาก ได้แก่ การใช้คลื่นความถี่วิทยุบริเวณเพดานอ่อน (Radiofrequency palatoplasty), การฝังไหมพิลล่า (Pillar Implantation) การยิงเลเซอร์เพดานอ่อน (Laser Assisted Uvulopalatoplasty, LAUP) เป็นต้น แต่ละอย่างเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาเพียง 10 - 15 นาทีหลังการฉีดยาชาเฉพาะที่ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มการรักษานี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจหรือผู้ที่มีอาการรุนแรงน้อยเท่านั้น

     การนอนกรน อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยที่ท่านไม่รู้ตัว  คือ โรคหยุดหายใจขณะหลับ  ซึ่งสามารถรักษาได้และช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้ไม่มากก็น้อย  ดังนั้นหากท่านหรือคู่สมรสและบุตรหลานของท่านนอนกรนดังมากเป็นประจำ  ท่านอาจพิจารณาเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 3 โซน D

 


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง