โรคต่อมหมวกไต สำคัญอย่างไร?

โรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง หมายถึง ภาวะที่การทำงานของต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานได้น้อยลง ทำให้ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ฮอร์โมนที่สำคัญที่สร้างจากต่อมหมวกไตชั้นนอก ได้แก่  ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol)  และฮอร์โมนมิเนอร์ราโลคอร์ติคอยด์ (mineralocorticoid) ส่งผลให้เกิดอาการทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ความดันโลหิตต่ำ เกลือแร่โซเดียมและโพแทสเซียมในเลือดผิดปกติ รวมถึงอาจตรวจพบน้ำตาลต่ำในเลือดได้

 

 

 

โรคต่อมหมวกไตบกพร่อง เกิดจากความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต ความผิดปกติของต่อมใต้สมองซึ่งมีหน้าที่ส่วนหนึ่งควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต หรือบางรายเกิดจากได้รับยาที่มีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน  ทำให้เกิดการกดการทำงานของต่อมหมวกไตทำให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ลดลงจนเกิดภาวะขาดฮอร์โมนได้ ซึ่งการขาดฮอร์โมนนี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือขาดฮอร์โมนอย่างถาวรขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดความปกติดังกล่าว แพทย์ผู้ให้การรักษาจะแนะนำถึงสาเหตุ การรักษา และการดูแลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

     เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนมิเนอร์ราโลคอร์ติคอยด์ที่สร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต มีส่วนช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะความเครียดต่างๆ และยังมีบทบาทเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ  ภายในร่างกาย เช่น ช่วยควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ลดการอักเสบ และกระตุ้นตับให้สร้างน้ำตาลออกมาสู่กระแสเลือด ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ขาดอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และยังจำเป็นต้องปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นในภาวะที่ร่างกายอยู่ในภาวะเครียด เช่น ช่วงเจ็บป่วยไม่สบาย มีไข้สูง  เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงอย่างฉับพลันจากภาวะวิกฤติ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง หรือเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการได้รับปริมาณยาที่ไม่เพียงพอ  อาจนำไปสู่ภาวะความดันต่ำ ซึมลง ชัก หรือเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้  ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดหรือรับการรักษาในโรงพยาบาลจากภาวะเจ็บป่วยใดๆ ควรแจ้งแพทย์ที่ทำการรักษาทุกครั้งว่ามีโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง  เพื่อแพทย์จะพิจารณาปรับยาอย่างเหมาะสม  ส่วนกรณีที่เจ็บป่วยไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องทราบวิธีการปรับขนาดยาที่รับประทานอยู่อย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล

     ผู้ป่วยโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องบางรายจำเป็นต้องได้รับยาทดแทนไปตลอดชีวิต (สอบถามจากแพทย์ที่ดูแลรักษาถึงสาเหตุการเกิดโรคและระยะเวลาในการรักษาหรือระยะเวลาในการรับประทานยา)  ดังนั้นจำเป็นต้องมาติดตามการรักษาและปรับขนาดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ผู้ป่วยที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน  จัดเป็นผู้ป่วยปกติ สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ  กรณีที่เป็นผู้ป่วยเด็กและมีกิจกรรมกลางแจ้งที่มีโอกาสเสียเหงื่อมาก  จำเป็นต้องได้รับสารน้ำทดแทนอย่างเพียงพอ

 

คำแนะนำเบื้องต้นในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง

  1. ทราบหรือจดจำชื่อยา และขนาดในการรักษา เพื่อแจ้งแพทย์ให้ทราบในกรณีจำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ
  2. รับประทานยาฮอร์โมนทดแทนที่ได้รับจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  ห้ามหยุดยาอย่างเด็ดขาด  โดยไม่ได้ปรึกษาหรือรับคำแนะนำจากแพทย์
  3. เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย  เช่น  มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปวดศรีษะ  คลื่นไส้  อาเจียน จำเป็นต้องปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย (แนะนำปรึกษาแพทย์ในการปรับขนาดยาอย่างเหมาะสม)
  4. เมื่ออาการเจ็บป่วยดังกล่าวทุเลาลง   ไม่มีไข้  และกินอาหารได้ตามปกติ  สามารถลดยาลงมาเท่าขนาดปกติที่รับประทานได้
  5. หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล   ควรแจ้งแพทย์ที่ทำการรักษาทุกครั้งว่ามีโรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง  เพื่อแพทย์จะปรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
  6.  เมื่อผู้ป่วยเกิดการเจ็บป่วยรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  ยาที่รับประทานอาจต้องเปลี่ยนเป็นยาที่บริหารผ่านทางเส้นเลือดในขนาดที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วย   หรือตามแพทย์สั่ง  จนกว่าอาการจะทุเลาลง  จึงจะสามารถเปลี่ยนเป็นยารับประทานในขนาดเดิมได้
  7. ผู้ป่วยจำเป็นต้องมารับการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  หากว่ายาใกล้หมดก่อนเวลานัดหมาย  ให้มาพบแพทย์ก่อนยาหมด  เนื่องจากการขาดยาจะทำให้เกิดภาวะความดันต่ำ  สมดุลย์เกลือแร่ที่ผิดปกติ และ/หรือ น้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 
  8. กรณียาไม่เพียงพอ และผู้ป่วยบ้านอยู่ไกล ไม่สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลที่รักษาต่อเนื่องได้ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับยารับประทานอย่างต่อเนื่อง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! คลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ ชั้น 4 โซน D

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! คลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ ชั้น 4 โซน D


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง