อาหารบำรุงเลือด ในผู้ป่วยรักษามะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา โดยเฉพาะการได้รับยาเคมีบำบัด การเกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจต้องพิจารณาหยุดการรักษาชั่วคราว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆ ตามมา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงได้ ผู้ป่วยหลายท่านคงอยากทราบว่ามีอาหารอะไรที่ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดได้บ้าง? วันนี้นักกำหนดอาหารจึงขออาสามาตอบคำตอบถามนี้กันค่ะ

ก่อนอื่นมารู้จัก “เลือด” กันก่อนว่าที่เราเห็นเป็นน้ำสีแดงนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

เลือดประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนที่เป็นน้ำเลือดหรือพลาสมา กับส่วนที่เป็นเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ซึ่งวันนี้เราจะให้ความสนใจที่เม็ดเลือดเป็นหลัก

  • เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพาเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทางลมหายใจ
  • เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่เป็นเหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกาย คอยต่อสู้กับเชื้อโรคที่จะเข้ามาโจมตีร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • เกล็ดเลือด ทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยพยาบาลตัวจิ๋วที่คอยพากันไปห้ามเลือดบริเวณที่เกิดบาดแผล ทั้งบาดแผลที่เกิดภายนอกร่างกาย และบาดแผลภายในร่างกาย เช่น รอยรั่วในหลอดเลือดขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นก็ตาม

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าร่างกายผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับยาเคมีบำบัดและมีเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำ ?

  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ส่งผลให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำนี้ถือเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ ขึ้นกับร่างกาย ภาวะโภชนาการเดิมของผู้ป่วย และสูตรยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำหรือภาวะซีดหรือภาวะเลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดรองลงมาจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยจะตรวจพบค่าโปรตีนฮีโมโกลบินที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์น้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการพาก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแย่ลง ทำให้เหนื่อยง่าย หายใจเร็วและสั้นมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อ่อนเพลีย หากรุนแรงมากก็ทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ การเกิดภาวะเลือดจางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แพทย์จะต้องทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยมีการอาการฟกช้ำได้ง่าย หรือหากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงอาจเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะภายในได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะเกล็ดเลือดต่ำนี้เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยมักจะเกิดหลังจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำประมาณ 4-5 วัน และมักจะกลับมาเป็นปกติหลังจากที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีภาวะเม็ดเลือดต่ำเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • เม็ดเลือดแดงถูกร่างกายทำลายก่อนที่ร่างกายจะสร้างมาทดแทน
  • การสูญเสียเลือด ซึ่งอาจจะเกิดจากก้อนมะเร็งลุกลามไปยังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสียหาย หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น การมีประจำเดือนมากผิดปกติในผู้ป่วยหญิง หรือการมีเลือดออกจากการมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • การรักษา เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับรังสีรักษา (การฉายแสง)
  • การมีโรคหัวใจ ปอด ไต หรือตับรุนแรง
  • การขาดวิตามินหรือเกลือแร่จากอาหาร เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรือรับประทานอาหารได้น้อย
  • การมีธาตุเหล็กในเลือดต่ำ
  • ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง หรือปัจจัยเหล่านี้รวมกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำในผู้ป่วยมะเร็ง

  • การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือ stem cell
  • ยาสเตียรอยด์
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิด การฉายแสง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

  • มะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้
  • ภาวะร่างกายที่ผิดปกติอื่น ๆ หรือยาบางชนิด
  • ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือดเอง
  • การได้รับยาเคมีบำบัดหรือการได้รับรังสีรักษาในปริมาณมากหรือได้รับร่วมกับยาเคมีบำบัด

จะเห็นได้ว่า ทั้งยาเคมีบำบัดและการฉายแสง (รังสีรักษา) นี้สามารถทำให้ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำได้ เนื่องมาจากผลข้างเคียงที่มีผลทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นที่สร้างทั้งเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดออกมาได้ลดลง จึงอาจทำให้เรามักพบผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษามีเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำได้นั่นเอง

นอกจากนี้ภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำได้ในทางอ้อมด้วย เนื่องจากทั้งตัวโรคและผลข้างเคียงของการรักษา มักทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปาก เจ็บคอ มีปัญหาการเคี้ยวหรือการกลืนลำบาก การรับรส การรับกลิ่นเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ได้รับพลังงานจากโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ซึ่งรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดไม่เพียงพอ และมีการศึกษาพบว่าการขาดพลังงานและโปรตีนส่งผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้ลดลง ซึ่งก็อาจเพิ่มโอกาสทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำในผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลง น้ำหนักตัวลดลง และอาจไม่สามารถทนต่อการรักษาได้จนครบตามแผนการรักษา

อาหารเพิ่มเม็ดเลือด/เกล็ดเลือดในผู้ป่วยมะเร็ง มีจริงหรือ?

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ที่ยืนยันได้ว่าอาหารหรือสารอาหารใดสามารถเพิ่มระดับเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดในผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นพิเศษ

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำที่เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีปัจจัยหนึ่งที่เราสามารถจัดการให้ดีขึ้นได้ นั่นก็คือการให้ผู้ป่วยได้รับพลังงาน โปรตีนและสารอาหารที่เพียงพอด้วยหลักการอาหารแบบสมดุลหรือ Balanced diet ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม เท่านี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อการสร้างเม็ดเลือด

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ นักกำหนดอาหารแนะนำให้ดื่มอาหารทางการแพทย์เสริม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงาน โปรตีน รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ให้เพียงพอต่อความต้องการ ภายใต้ตามคำแนะนำของนักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษา หรือเสริมวิตามินและเกลือแร่รวมภายใต้การดูแลของแพทย์

มีการศึกษาหลายการศึกษา พบว่า นอกจากการขาดโปรตีนและพลังงานจะมีผลให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้ลดลงแล้ว การขาดสารอาหารบางตัวก็ส่งผลให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำที่เกิดได้จากการขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 โฟเลต วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี ทองแดง และสังกะสี นอกจากนี้ ยังพบว่าการขาดโฟเลตและวิตามินบี 12 อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้จากการสร้างที่ลดลง ทั้งนี้ European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า "ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณเท่ากับปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน และไม่แนะนำให้เสริมวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูง หากไม่มีข้อบ่งชี้ว่าร่างกายขาดสารอาหารนั้น ๆ"

ระหว่างการรักษามะเร็งควรรับประทานอาหารอย่างไร?

โปรตีน (Protein)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

ร่างกายของเราต้องการโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้อยู่ในสภาพปกติ เป็นส่วนประกอบของสารสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ หากร่างกายของเราได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้ช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

แหล่งอาหารของโปรตีนพบได้ทั้งจากสัตว์และพืช โดยโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ในขณะที่โปรตีนจากพืชเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำกว่า เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วนหรือมีสัดส่วนของกรดอะมิโนไม่เหมาะสม ดังนั้น เราควรได้รับโปรตีนจากสัตว์และพืชในสัดส่วนเท่าๆ กัน เพื่อให้ได้รับโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนครบถ้วน แหล่งที่ดีของโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดไขมันต่ำ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น

ตัวอย่างแหล่งอาหารของโปรตีนอื่น ๆ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วต้องรับประทานเท่าไร ถึงจะได้โปรตีนเท่ากับไข่ไก่ 1 ฟอง (ไข่ไก่น้ำหนักประมาณ 55 กรัม หรือเทียบเท่าไข่ไก่เบอร์ 3 จำนวน 1 ฟอง ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม)

โปรตีนจากสัตว์ (โปรตีนเฉลี่ย 7 กรัม ต่อ น้ำหนักสุก 30 กรัม)

  • นมรสธรรมชาติ  200 มล.
  • โยเกิร์ตรสต่างๆ 200 มล.
  • เต้าหู้ไข่ไก่ 150 กรัม
  • เนื้อสัตว์สุก  25 - 40 กรัม
  • ไข่ขาว 60 – 75 กรัม

โปรตีนจากพืช (โปรตีนเฉลี่ย 1 – 3 กรัม ต่อ น้ำหนัก 100 กรัม)

  • นมถั่วเหลือง UHT         240 มล.
  • ถั่วเมล็ดแห้งนึ่ง             60 กรัม
  • ถั่วเปลือกแข็ง              40 กรัม
  • เต้าหู้ขาวแข็ง              55 กรัม
  • เห็ดฟางต้ม                 180 กรัม

หมายเหตุ : น้ำหนักอาหารที่แสดงนี้เป็นค่าเฉลี่ยจากหลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น แนะนำให้อ่านข้อมูลจากฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ที่ท่านทานอยู่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากคำแนะนำของ ESPEN guidelines on nutrition in cancer patients ปี 2017 ได้แนะนำไว้ว่า "ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับโปรตีนปริมาณ 1-1.5 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งความต้องการนี้อาจมากขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัด ได้รับยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อ (ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล แนะนำให้ปรึกษานักกำหนดอาหารหรือแพทย์ที่ท่านรักษาอยู่) "

ธาตุเหล็ก (Iron)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนฮีโมโกลบินที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเกิดภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมักรับประทานอาหารได้น้อยและได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายสร้างฮีโลโกลบินได้ไม่พอ ส่งผลให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลงหรือเกิดลักษณะผิดปกติ

ธาตุเหล็กพบได้ทั้งจากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์และแหล่งอาหารที่มาจากพืช โดยธาตุเหล็กที่พบในอาหารจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปฮีม (Heme Iron) ร่างกายจะดูดซึมได้ดี 20-30% แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เลือด เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องในสัตว์ ไก่ ปลา และอาหารทะเล

2. ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปไม่ใช่ฮีม (Non-heme Iron) ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อย เพียง 3-5% และการดูดซึมขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหรือขัดขวางการดูดซึมที่มีในอาหารด้วยกัน แหล่งอาหาร พบได้ในอาหารที่มาจากพืชทั้งหมด เช่น ธัญชาติ ข้าว ผักสีเขียวเข้มบางชนิด เช่น ผักโขม ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึง ไข่แดง และนม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารจากสัตว์ ที่มีธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม

สารที่ช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ กรดผลไม้ และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ดังนั้น

  • ควรรับประทานเนื้อสัตว์ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-12 ช้อนกินข้าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นอกจากจะมีธาตุเหล็กสูงแล้ว ยังช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ฮีมให้ดีขึ้นด้วย
  • ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอร่วมกับอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เนื่องจากจะช่วยทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีมได้ดีขึ้น เช่น ผลไม้รสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ตับ ไข่ ฟักทอง แครอท มะละกอสุกและมะม่วงสุกที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ
  • ควรรับประทานผักและผลไม้วันละ 3-5 จานรองแก้วกาแฟ/ขนาดเท่ากำปั้นมือ และแนะนำเป็นผักและผลไม้สดที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำลายวิตามินซีได้

(**ควรล้างทำความสะอาดผักและเปลือกผลไม้ด้วยน้ำไหลผ่านและปอกเปลือกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ง่ายในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา)
หมายเหตุ ผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะเหล็กเกินควรระมัดระวังการรับประทานอาหารตามคำแนะนำข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ที่ท่านทำการรักษาอยู่

สารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ได้แก่

1. กากใยอาหารและไฟเตท พบมากในข้าวที่ไม่ขัดสี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง หรือผักสีเขียวเข้ม เช่น ใบกระถิน ขี้เหล็ก ใบเมี่ยง เป็นต้น

2. แคลเซียม พบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม จะยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงไม่ควรดื่มนมพร้อมมื้ออาหารหรือพร้อมยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก

3. สารโพลีฟีนอล เช่น สารแทนนิน พบได้ในน้ำชา กาแฟ ทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหาร จึงไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ พร้อมอาหารหรือหลังรับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้รับประทานอาหารแบบรวมกันให้หลากหลายมากกว่าการรับประทานอาหารแค่ตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากพบว่าเมื่อเรารับประทานอาหารแบบรวมกันให้หลากหลายแล้ว ผลการรบกวนของสารอาหารอื่นๆ ต่อการดูดซึมธาตุเหล็กจะมีน้อยกว่าการเลือกรับประทานอาหารตัวใดตัวหนึ่ง

วิตามินบี 12 (B12)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

พบได้ทั้งในเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ อีกทั้งร่างกายสามารถสะสมวิตามินบี 12 ได้ (เพียงพอสำหรับประมาณ 2-4 ปี) และขับออกจากร่างกายในปริมาณน้อย ในภาวะปกติ เราจึงพบการขาดวิตามินบี 12 ได้น้อย แต่จะมีบางกรณีที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้ ดังนี้

1. เกิดจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ตามปกติ หรือ ได้รับยาบางชนิดทำให้ดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ลดลง

2. อาจจะพบได้ในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัด คือ ไม่รับประทานไข่หรือไม่ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมเลย เป็นเวลานาน

3. ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อย

4. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็จะเพิ่มการขับวิตามินบี 12 ออกจากร่างกายด้วย

โฟเลต (Folate)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

สาเหตุการขาดโฟเลต อาจเกิดได้จากการได้รับโฟเลตจากอาหารไม่เพียงพอ มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้สูงอายุ ร่างกายดูดซึมได้ลดลง หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด ปกติร่างกายจะเก็บสะสมโฟเลตไว้ที่ตับไว้ใช้ได้เพียงพอประมาณ 3-4 เดือน

แหล่งอาหารของโฟเลต ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ตับ

ข้อควรระวัง : โฟเลตในอาหารจะไวต่อแสงและความร้อน ดังนั้น บางส่วนอาจถูกทำลายไปในสิ่งแวดล้อมและการปรุงอาหารได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการหุงต้มนานๆ การอุ่นอาหารซ้ำ เพราะจะทำให้สูญเสียโฟเลตในอาหารได้

 

Tips การรับประทานอาหารในผู้ป่วยรักษาโรคมะเร็ง

1. นอกจากอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ควรรับประทานมื้อว่างระหว่างวันหรือแบ่งอาหารมื้อหลักออกเป็นมื้อเล็ก 5 - 6 มื้อเล็กๆ ต่อวัน

2. ไม่ดื่มน้ำพร้อมอาหารมากเกินไป เพราะอาจทำให้อิ่มและรับประทานอาหารได้น้อย แนะนำให้จิบน้ำระหว่างวันหรือดื่มก่อนหรือหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที

3. เลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงทั้งอาหารมื้อหลักและอาหารว่าง เช่น โยเกิร์ต ซีเรียลกับนม แซนวิช ซุปข้น ถั่วเปลือกแข็ง สมูทตี้นมปั่น ชีส แครกเกอร์ อะโวคาโด หรือหากรับประทานอาหารไม่ได้หรือรับประทานได้น้อย แนะนำให้ดื่มอาหารทางการแพทย์เสริมหรือแทนมื้ออาหาร (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือนักกำหนดอาหาร ณ โรงพยาบาลที่ท่านทำการรักษาอยู่)

4. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในทุกๆ วัน เพื่อให้ได้รับวิตามิน เกลือแร่ และสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

5. ลองรับประทานอาหารใหม่ๆ ที่สุก สะอาด และปลอดภัย เพราะในระหว่างการรักษาคุณอาจรู้สึกชอบอาหารบางอย่างที่คุณไม่เคยชอบมาก่อน

6. หากมีอาการคลื่นไส้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ซุป โยเกิร์ต และอาจลองรับประทานอาหารที่มีกลิ่นรสเปรี้ยว เช่น มะนาว เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่อดอาหารแม้ไม่รู้สึกหิว เนื่องจากหากปล่อยให้ท้องว่างอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้นได้

7. หากมีอาการอาเจียน แนะนำค่อยๆ เริ่มจิบอาหารเหลวใส เช่น ซุปใส น้ำผลไม้ (อาจเติมผงเวย์โปรตีนเพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนหากรับได้) หรืออาหารทางการแพทย์หากรับได้ เมื่ออาการอาเจียนดีขึ้น ค่อยๆ ลองรับประทานอาหารที่เหลวข้นขึ้นหรือเครื่องดื่มที่ย่อยง่าย เช่น ซุปข้น โยเกิร์ต นม หรืออาหารทางการแพทย์ และเมื่อเริ่มรับประทานอาหารปกติได้ แนะนำให้แบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อเล็ก ๆ ต่อวัน

8. หากมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ ปากแห้ง เคี้ยวหรือกลืนลำบาก แนะนำรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม ช่มชื้น ชิ้นเล็ก เคี้ยวและกลืนได้ง่าย อาหารเย็น ๆ และอาจใช้ช้อนขนาดเล็กในการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำด้วยหลอด เพื่อลดอาการเจ็บปาก รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มได้ง่ายขึ้น

9. ออกกำลังกายเล็กน้อยหรือเดินเล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร เพื่อช่วยเพิ่มความอยากอาหาร

10. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีกิจกรรมทางกายอยู่เสมอ

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ แฮม โบโลน่า ฯลฯ
  • อาหารที่รับประทานเหลือไว้และเก็บในตู้เย็นมานานกว่า 3 วัน
  • อาหารที่มีเกลือมาก อาหารที่ต้องรมควันและอาหารหมักดอง
  • อาหารดิบหรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบ หอยดิบ ถั่วเปลือกแข็งดิบ เป็นต้น
  • อาหารที่เน่าเสียง่ายที่ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องมากกว่า 2 ชั่วโมง
  • หากมีอาการเจ็บปาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยวหรือที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว เลม่อน มะเขือเทศ อาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป อาหารที่มีเนื้อสัมผัสแห้งและแข็ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้อาการเจ็บปากและปากแห้งแย่ลงได้

สุดท้ายนี้ ปริมาณเม็ดเลือดของผู้ป่วยอาจไม่ได้แปรผันตรงกับพลังงานและสารอาหารที่ผู้ป่วยได้รับเสมอไป เนื่องจากมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับเม็ดเลือด เช่น ผลข้างเคียงของการรักษา สภาวะร่างกาย หรือชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งก็แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

การสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่มีพลังงาน โปรตีนและสารอาหารที่เพียงพอ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี แข็งแรง ฟื้นฟูร่างกายได้เร็ว ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และสามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องจนครบแผนการรักษา และที่สำคัญคือเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เมื่อกายดี ใจก็ดี เมื่อใจดี กายก็ดีตามไปด้วย

ข้อมูลจาก นักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการ คลิก!! ติดตามข่าวสารกับนักกำหนดอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา โดยเฉพาะการได้รับยาเคมีบำบัด การเกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจต้องพิจารณาหยุดการรักษาชั่วคราว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆ ตามมา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลงได้ ผู้ป่วยหลายท่านคงอยากทราบว่ามีอาหารอะไรที่ช่วยเพิ่มเม็ดเลือดได้บ้าง? วันนี้นักกำหนดอาหารจึงขออาสามาตอบคำตอบถามนี้กันค่ะ

ก่อนอื่นมารู้จัก “เลือด” กันก่อนว่าที่เราเห็นเป็นน้ำสีแดงนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

เลือดประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนที่เป็นน้ำเลือดหรือพลาสมา กับส่วนที่เป็นเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ซึ่งวันนี้เราจะให้ความสนใจที่เม็ดเลือดเป็นหลัก

  • เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพาเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทางลมหายใจ
  • เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่เป็นเหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกาย คอยต่อสู้กับเชื้อโรคที่จะเข้ามาโจมตีร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • เกล็ดเลือด ทำหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยพยาบาลตัวจิ๋วที่คอยพากันไปห้ามเลือดบริเวณที่เกิดบาดแผล ทั้งบาดแผลที่เกิดภายนอกร่างกาย และบาดแผลภายในร่างกาย เช่น รอยรั่วในหลอดเลือดขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นก็ตาม

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าร่างกายผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับยาเคมีบำบัดและมีเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำ ?

  • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ส่งผลให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำนี้ถือเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ ขึ้นกับร่างกาย ภาวะโภชนาการเดิมของผู้ป่วย และสูตรยาเคมีบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับ
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำหรือภาวะซีดหรือภาวะเลือดจาง (Anemia) เป็นภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดรองลงมาจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ โดยจะตรวจพบค่าโปรตีนฮีโมโกลบินที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์น้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการพาก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแย่ลง ทำให้เหนื่อยง่าย หายใจเร็วและสั้นมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อ่อนเพลีย หากรุนแรงมากก็ทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ การเกิดภาวะเลือดจางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แพทย์จะต้องทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยมีการอาการฟกช้ำได้ง่าย หรือหากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงอาจเสี่ยงเกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะภายในได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะเกล็ดเลือดต่ำนี้เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยมักจะเกิดหลังจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำประมาณ 4-5 วัน และมักจะกลับมาเป็นปกติหลังจากที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีภาวะเม็ดเลือดต่ำเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • เม็ดเลือดแดงถูกร่างกายทำลายก่อนที่ร่างกายจะสร้างมาทดแทน
  • การสูญเสียเลือด ซึ่งอาจจะเกิดจากก้อนมะเร็งลุกลามไปยังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสียหาย หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น การมีประจำเดือนมากผิดปกติในผู้ป่วยหญิง หรือการมีเลือดออกจากการมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • การรักษา เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับรังสีรักษา (การฉายแสง)
  • การมีโรคหัวใจ ปอด ไต หรือตับรุนแรง
  • การขาดวิตามินหรือเกลือแร่จากอาหาร เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรือรับประทานอาหารได้น้อย
  • การมีธาตุเหล็กในเลือดต่ำ
  • ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง หรือปัจจัยเหล่านี้รวมกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำในผู้ป่วยมะเร็ง

  • การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือ stem cell
  • ยาสเตียรอยด์
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิด การฉายแสง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

  • มะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้
  • ภาวะร่างกายที่ผิดปกติอื่น ๆ หรือยาบางชนิด
  • ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเกล็ดเลือดเอง
  • การได้รับยาเคมีบำบัดหรือการได้รับรังสีรักษาในปริมาณมากหรือได้รับร่วมกับยาเคมีบำบัด

จะเห็นได้ว่า ทั้งยาเคมีบำบัดและการฉายแสง (รังสีรักษา) นี้สามารถทำให้ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำได้ เนื่องมาจากผลข้างเคียงที่มีผลทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นที่สร้างทั้งเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดออกมาได้ลดลง จึงอาจทำให้เรามักพบผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรักษามีเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำได้นั่นเอง

นอกจากนี้ภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดต่ำได้ในทางอ้อมด้วย เนื่องจากทั้งตัวโรคและผลข้างเคียงของการรักษา มักทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปาก เจ็บคอ มีปัญหาการเคี้ยวหรือการกลืนลำบาก การรับรส การรับกลิ่นเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ได้รับพลังงานจากโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ซึ่งรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดไม่เพียงพอ และมีการศึกษาพบว่าการขาดพลังงานและโปรตีนส่งผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้ลดลง ซึ่งก็อาจเพิ่มโอกาสทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำในผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานลดลง น้ำหนักตัวลดลง และอาจไม่สามารถทนต่อการรักษาได้จนครบตามแผนการรักษา

อาหารเพิ่มเม็ดเลือด/เกล็ดเลือดในผู้ป่วยมะเร็ง มีจริงหรือ?

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ที่ยืนยันได้ว่าอาหารหรือสารอาหารใดสามารถเพิ่มระดับเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดในผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นพิเศษ

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดต่ำที่เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีปัจจัยหนึ่งที่เราสามารถจัดการให้ดีขึ้นได้ นั่นก็คือการให้ผู้ป่วยได้รับพลังงาน โปรตีนและสารอาหารที่เพียงพอด้วยหลักการอาหารแบบสมดุลหรือ Balanced diet ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม เท่านี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อการสร้างเม็ดเลือด

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ นักกำหนดอาหารแนะนำให้ดื่มอาหารทางการแพทย์เสริม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับพลังงาน โปรตีน รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ให้เพียงพอต่อความต้องการ ภายใต้ตามคำแนะนำของนักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษา หรือเสริมวิตามินและเกลือแร่รวมภายใต้การดูแลของแพทย์

มีการศึกษาหลายการศึกษา พบว่า นอกจากการขาดโปรตีนและพลังงานจะมีผลให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้ลดลงแล้ว การขาดสารอาหารบางตัวก็ส่งผลให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำที่เกิดได้จากการขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 โฟเลต วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี ทองแดง และสังกะสี นอกจากนี้ ยังพบว่าการขาดโฟเลตและวิตามินบี 12 อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้จากการสร้างที่ลดลง ทั้งนี้ European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า "ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณเท่ากับปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน และไม่แนะนำให้เสริมวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณสูง หากไม่มีข้อบ่งชี้ว่าร่างกายขาดสารอาหารนั้น ๆ"

ระหว่างการรักษามะเร็งควรรับประทานอาหารอย่างไร?

โปรตีน (Protein)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

ร่างกายของเราต้องการโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้อยู่ในสภาพปกติ เป็นส่วนประกอบของสารสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อ หากร่างกายของเราได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้ช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

แหล่งอาหารของโปรตีนพบได้ทั้งจากสัตว์และพืช โดยโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ในขณะที่โปรตีนจากพืชเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำกว่า เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วนหรือมีสัดส่วนของกรดอะมิโนไม่เหมาะสม ดังนั้น เราควรได้รับโปรตีนจากสัตว์และพืชในสัดส่วนเท่าๆ กัน เพื่อให้ได้รับโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนครบถ้วน แหล่งที่ดีของโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดไขมันต่ำ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น

ตัวอย่างแหล่งอาหารของโปรตีนอื่น ๆ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วต้องรับประทานเท่าไร ถึงจะได้โปรตีนเท่ากับไข่ไก่ 1 ฟอง (ไข่ไก่น้ำหนักประมาณ 55 กรัม หรือเทียบเท่าไข่ไก่เบอร์ 3 จำนวน 1 ฟอง ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม)

โปรตีนจากสัตว์ (โปรตีนเฉลี่ย 7 กรัม ต่อ น้ำหนักสุก 30 กรัม)

  • นมรสธรรมชาติ  200 มล.
  • โยเกิร์ตรสต่างๆ 200 มล.
  • เต้าหู้ไข่ไก่ 150 กรัม
  • เนื้อสัตว์สุก  25 - 40 กรัม
  • ไข่ขาว 60 – 75 กรัม

โปรตีนจากพืช (โปรตีนเฉลี่ย 1 – 3 กรัม ต่อ น้ำหนัก 100 กรัม)

  • นมถั่วเหลือง UHT         240 มล.
  • ถั่วเมล็ดแห้งนึ่ง             60 กรัม
  • ถั่วเปลือกแข็ง              40 กรัม
  • เต้าหู้ขาวแข็ง              55 กรัม
  • เห็ดฟางต้ม                 180 กรัม

หมายเหตุ : น้ำหนักอาหารที่แสดงนี้เป็นค่าเฉลี่ยจากหลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น แนะนำให้อ่านข้อมูลจากฉลากโภชนาการของผลิตภัณฑ์ที่ท่านทานอยู่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากคำแนะนำของ ESPEN guidelines on nutrition in cancer patients ปี 2017 ได้แนะนำไว้ว่า "ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับโปรตีนปริมาณ 1-1.5 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งความต้องการนี้อาจมากขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัด ได้รับยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อ (ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล แนะนำให้ปรึกษานักกำหนดอาหารหรือแพทย์ที่ท่านรักษาอยู่) "

ธาตุเหล็ก (Iron)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนฮีโมโกลบินที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเกิดภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งมักรับประทานอาหารได้น้อยและได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายสร้างฮีโลโกลบินได้ไม่พอ ส่งผลให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลงหรือเกิดลักษณะผิดปกติ

ธาตุเหล็กพบได้ทั้งจากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์และแหล่งอาหารที่มาจากพืช โดยธาตุเหล็กที่พบในอาหารจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปฮีม (Heme Iron) ร่างกายจะดูดซึมได้ดี 20-30% แหล่งอาหารที่พบ ได้แก่ เลือด เนื้อสัตว์ ตับ เครื่องในสัตว์ ไก่ ปลา และอาหารทะเล

2. ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปไม่ใช่ฮีม (Non-heme Iron) ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้น้อย เพียง 3-5% และการดูดซึมขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหรือขัดขวางการดูดซึมที่มีในอาหารด้วยกัน แหล่งอาหาร พบได้ในอาหารที่มาจากพืชทั้งหมด เช่น ธัญชาติ ข้าว ผักสีเขียวเข้มบางชนิด เช่น ผักโขม ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึง ไข่แดง และนม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารจากสัตว์ ที่มีธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม

สารที่ช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ กรดผลไม้ และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ดังนั้น

  • ควรรับประทานเนื้อสัตว์ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-12 ช้อนกินข้าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นอกจากจะมีธาตุเหล็กสูงแล้ว ยังช่วยดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ฮีมให้ดีขึ้นด้วย
  • ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอร่วมกับอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เนื่องจากจะช่วยทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีมได้ดีขึ้น เช่น ผลไม้รสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ตับ ไข่ ฟักทอง แครอท มะละกอสุกและมะม่วงสุกที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ
  • ควรรับประทานผักและผลไม้วันละ 3-5 จานรองแก้วกาแฟ/ขนาดเท่ากำปั้นมือ และแนะนำเป็นผักและผลไม้สดที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำลายวิตามินซีได้

(**ควรล้างทำความสะอาดผักและเปลือกผลไม้ด้วยน้ำไหลผ่านและปอกเปลือกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ง่ายในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา)
หมายเหตุ ผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะเหล็กเกินควรระมัดระวังการรับประทานอาหารตามคำแนะนำข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ที่ท่านทำการรักษาอยู่

สารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในรูปที่ไม่ใช่ฮีม ได้แก่

1. กากใยอาหารและไฟเตท พบมากในข้าวที่ไม่ขัดสี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง หรือผักสีเขียวเข้ม เช่น ใบกระถิน ขี้เหล็ก ใบเมี่ยง เป็นต้น

2. แคลเซียม พบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม จะยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงไม่ควรดื่มนมพร้อมมื้ออาหารหรือพร้อมยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก

3. สารโพลีฟีนอล เช่น สารแทนนิน พบได้ในน้ำชา กาแฟ ทำให้ลดการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหาร จึงไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ พร้อมอาหารหรือหลังรับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้รับประทานอาหารแบบรวมกันให้หลากหลายมากกว่าการรับประทานอาหารแค่ตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากพบว่าเมื่อเรารับประทานอาหารแบบรวมกันให้หลากหลายแล้ว ผลการรบกวนของสารอาหารอื่นๆ ต่อการดูดซึมธาตุเหล็กจะมีน้อยกว่าการเลือกรับประทานอาหารตัวใดตัวหนึ่ง

วิตามินบี 12 (B12)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

พบได้ทั้งในเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ อีกทั้งร่างกายสามารถสะสมวิตามินบี 12 ได้ (เพียงพอสำหรับประมาณ 2-4 ปี) และขับออกจากร่างกายในปริมาณน้อย ในภาวะปกติ เราจึงพบการขาดวิตามินบี 12 ได้น้อย แต่จะมีบางกรณีที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้ ดังนี้

1. เกิดจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ตามปกติ หรือ ได้รับยาบางชนิดทำให้ดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ลดลง

2. อาจจะพบได้ในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัด คือ ไม่รับประทานไข่หรือไม่ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมเลย เป็นเวลานาน

3. ผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารได้น้อย

4. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็จะเพิ่มการขับวิตามินบี 12 ออกจากร่างกายด้วย

โฟเลต (Folate)

อาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้ป่วยรักษามะเร็ง

สาเหตุการขาดโฟเลต อาจเกิดได้จากการได้รับโฟเลตจากอาหารไม่เพียงพอ มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้สูงอายุ ร่างกายดูดซึมได้ลดลง หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด ปกติร่างกายจะเก็บสะสมโฟเลตไว้ที่ตับไว้ใช้ได้เพียงพอประมาณ 3-4 เดือน

แหล่งอาหารของโฟเลต ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ตับ

ข้อควรระวัง : โฟเลตในอาหารจะไวต่อแสงและความร้อน ดังนั้น บางส่วนอาจถูกทำลายไปในสิ่งแวดล้อมและการปรุงอาหารได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการหุงต้มนานๆ การอุ่นอาหารซ้ำ เพราะจะทำให้สูญเสียโฟเลตในอาหารได้

 

Tips การรับประทานอาหารในผู้ป่วยรักษาโรคมะเร็ง

1. นอกจากอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ควรรับประทานมื้อว่างระหว่างวันหรือแบ่งอาหารมื้อหลักออกเป็นมื้อเล็ก 5 - 6 มื้อเล็กๆ ต่อวัน

2. ไม่ดื่มน้ำพร้อมอาหารมากเกินไป เพราะอาจทำให้อิ่มและรับประทานอาหารได้น้อย แนะนำให้จิบน้ำระหว่างวันหรือดื่มก่อนหรือหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที

3. เลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงทั้งอาหารมื้อหลักและอาหารว่าง เช่น โยเกิร์ต ซีเรียลกับนม แซนวิช ซุปข้น ถั่วเปลือกแข็ง สมูทตี้นมปั่น ชีส แครกเกอร์ อะโวคาโด หรือหากรับประทานอาหารไม่ได้หรือรับประทานได้น้อย แนะนำให้ดื่มอาหารทางการแพทย์เสริมหรือแทนมื้ออาหาร (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หรือนักกำหนดอาหาร ณ โรงพยาบาลที่ท่านทำการรักษาอยู่)

4. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในทุกๆ วัน เพื่อให้ได้รับวิตามิน เกลือแร่ และสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

5. ลองรับประทานอาหารใหม่ๆ ที่สุก สะอาด และปลอดภัย เพราะในระหว่างการรักษาคุณอาจรู้สึกชอบอาหารบางอย่างที่คุณไม่เคยชอบมาก่อน

6. หากมีอาการคลื่นไส้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ซุป โยเกิร์ต และอาจลองรับประทานอาหารที่มีกลิ่นรสเปรี้ยว เช่น มะนาว เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่อดอาหารแม้ไม่รู้สึกหิว เนื่องจากหากปล่อยให้ท้องว่างอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้นได้

7. หากมีอาการอาเจียน แนะนำค่อยๆ เริ่มจิบอาหารเหลวใส เช่น ซุปใส น้ำผลไม้ (อาจเติมผงเวย์โปรตีนเพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนหากรับได้) หรืออาหารทางการแพทย์หากรับได้ เมื่ออาการอาเจียนดีขึ้น ค่อยๆ ลองรับประทานอาหารที่เหลวข้นขึ้นหรือเครื่องดื่มที่ย่อยง่าย เช่น ซุปข้น โยเกิร์ต นม หรืออาหารทางการแพทย์ และเมื่อเริ่มรับประทานอาหารปกติได้ แนะนำให้แบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อเล็ก ๆ ต่อวัน

8. หากมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ ปากแห้ง เคี้ยวหรือกลืนลำบาก แนะนำรับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม ช่มชื้น ชิ้นเล็ก เคี้ยวและกลืนได้ง่าย อาหารเย็น ๆ และอาจใช้ช้อนขนาดเล็กในการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำด้วยหลอด เพื่อลดอาการเจ็บปาก รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มได้ง่ายขึ้น

9. ออกกำลังกายเล็กน้อยหรือเดินเล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร เพื่อช่วยเพิ่มความอยากอาหาร

10. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีกิจกรรมทางกายอยู่เสมอ

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ แฮม โบโลน่า ฯลฯ
  • อาหารที่รับประทานเหลือไว้และเก็บในตู้เย็นมานานกว่า 3 วัน
  • อาหารที่มีเกลือมาก อาหารที่ต้องรมควันและอาหารหมักดอง
  • อาหารดิบหรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบ หอยดิบ ถั่วเปลือกแข็งดิบ เป็นต้น
  • อาหารที่เน่าเสียง่ายที่ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องมากกว่า 2 ชั่วโมง
  • หากมีอาการเจ็บปาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยวหรือที่มีความเป็นกรดสูง เช่น ส้ม มะนาว เลม่อน มะเขือเทศ อาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป อาหารที่มีเนื้อสัมผัสแห้งและแข็ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้อาการเจ็บปากและปากแห้งแย่ลงได้

สุดท้ายนี้ ปริมาณเม็ดเลือดของผู้ป่วยอาจไม่ได้แปรผันตรงกับพลังงานและสารอาหารที่ผู้ป่วยได้รับเสมอไป เนื่องจากมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับเม็ดเลือด เช่น ผลข้างเคียงของการรักษา สภาวะร่างกาย หรือชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งก็แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

การสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่มีพลังงาน โปรตีนและสารอาหารที่เพียงพอ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี แข็งแรง ฟื้นฟูร่างกายได้เร็ว ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และสามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องจนครบแผนการรักษา และที่สำคัญคือเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เมื่อกายดี ใจก็ดี เมื่อใจดี กายก็ดีตามไปด้วย

ข้อมูลจาก นักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการ คลิก!! ติดตามข่าวสารกับนักกำหนดอาหาร


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง