เอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าขาดในนักแบดมินตัน

     การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกครั้งที่นักกีฬาไทยของเราประสบความสำเร็จ โดยเหรียญรางวัลเหรียญแรกของเราเป็นความสามารถของวิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันแบดมินตันชายเดี่ยว เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในขณะที่การแข่งขันแบดมินตันหญิงเดี่ยวนั้นเราได้เห็นภาพประทับใจในสปิริตนักกีฬาที่ เหอ ปิง เจียว นักกีฬาชาวจีนถือเข็มสัญลักษณ์ทีมชาติสเปนขณะขึ้นรับเหรียญรางวัล เพื่อเป็นการให้เกียรติกับคาโรลินา มาริน อดีตมือ 1 ของโลกชาวสเปนที่ได้รับบาดเจ็บที่เข่าในการแข่งขันรอบตัดเชือกกับเธอ จนต้องถอนตัวจากการแข่งขันและไม่ได้เหรียญรางวัลใด ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

 

มารินบาดเจ็บอย่างไร

     แบดมินตันเป็นกีฬาที่ต้องการการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนขาและข้อเข่าต้องรับแรงกระแทกมากมาย อีกทั้งร่างกายต้องมีการรักษาการทรงตัวขณะเคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทางไปมา การบาดเจ็บของมารินในครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เธอกระโดดตีลูกท้ายคอร์ตฝั่งขวา แล้วเกิดเข่าขวาบิดขณะลงสู่พื้น ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าที่อยู่ภายในข้อเข่า มารินเป็นอดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกริโอ 2016 เคยผิดหวังมาแล้วก่อนหน้านี้จากเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเช่นกัน ที่ทำให้เธอพลาดการป้องกันแชมป์ในโอลิมปิกโตเกียว 2020 การบาดเจ็บที่ปารีสครั้งนี้จึงเป็นเสมือนฝันร้ายสำหรับเธอที่หวังจะคว้าเหรียญโอลิมปิกอีกครั้ง

 

เอ็นไขว้หน้าอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร

     เอ็นไขว้หน้า ตามศัพท์ทางการแพทย์จะเรียกว่า anterior cruciate ligament  หรือมีอักษรย่อคือ ACL เป็นเอ็นที่อยู่ภายในข้อเข่า ทอดเฉียงจากกระดูกต้นขาไปยังกระดูกแข้ง มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเอ็นไขว้หน้าจะป้องกันการเคลื่อนของกระดูกแข้งมาทางด้านหน้าต่อกระดูกต้นขา อีกทั้งป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่าอีกด้วย เปรียบเสมือนเบรคของข้อเข่านั่นเอง เนื่องจากเอ็นบริเวณกลางข้อเข่ามีการวางตัวไขว้กันสองเส้นจึงเรียกว่า เอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลัง การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้านั้นพบบ่อยจนในข่าวกีฬาต่างประเทศเมื่อมีนักกีฬาบาดเจ็บก็จะพาดหัวข่าวโดยใช้คำว่า ACL injury ก็จะเป็นที่เข้าใจกันสำหรับผู้อ่านเลยทีเดียว

 

เอ็นไขว้หน้าขาดวินิจฉัยได้อย่างไร

     แพทย์จะวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาดจากการรวบรวมข้อมูลจากการสอบถามประวัติกลไกการบาดเจ็บ ตรวจร่างกายประเมินข้อเข่าและตรวจยืนยันด้วยเอ็มอาร์ไอ

     การฉีกขาดเอ็นไขว้หน้านั้นมีกลไกการบาดเจ็บได้ทั้งในลักษณะที่มีหรือไม่มีการปะทะก็ได้  โดยส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เกิดการบาดเจ็บโดยไม่มีการปะทะเหมือนที่มารินเข่าบิดขณะลงสู่พื้นด้วยขาข้างเดียว ในนักกีฬาฟุตบอลหรือบาสเกตบอลก็อาจเกิดเข่าบิดได้ขณะที่มีการวิ่งเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นผู้ป่วยมักรู้สึกว่า มีเสียงลั่นในข้อเข่าจากเอ็นที่ขาดร่วมกับปวดรุนแรงทันที ส่วนใหญ่ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้  ข้อเข่ามักมีอาการบวมขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากมีเลือดออกภายในข้อเข่า

     แพทย์จะตรวจร่างกายประเมินข้อเข่าพบว่ามีภาวะข้อหลวมอันเนื่องมาจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไป มีการเคลื่อนของกระดูกแข้งมาทางด้านหน้าต่อกระดูกต้นขาได้มากกว่าปกติ หรือข้อเข่าสามารถบิดหมุนได้มากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เอกซเรย์จะไม่พบความผิดปกติของกระดูก วิธีการตรวจยืนยันที่มีความแม่นยำสูงคือ เอ็มอาร์ไอ เพื่อสร้างภาพในหลายระนาบเพื่อประเมินการบาดเจ็บของโครงสร้างภายในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น หมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ เป็นต้น

 

การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด

     การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด มีหลายปัจจัยในการพิจารณาเลือกวิธีรักษา เช่น ความต้องการของผู้ป่วยในการใช้งานข้อเข่าทั้งในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬา อายุของผู้ป่วย ความมั่นคงของข้อเข่า การบาดเจ็บร่วมของส่วนประกอบอื่นของข้อเข่า เป็นต้น การเล่นกีฬาทั้งที่มีเอ็นไขว้หน้าขาดแล้วอาจเกิดข้อเข่าบิดซ้ำได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนผิวข้อหรือหมอนรองข้อเข่าเพิ่มเติมขึ้นได้ การบาดเจ็บสะสมนี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น ดังนั้นในนักกีฬาส่วนใหญ่จึงมักเลือกเข้ารับการผ่าตัด

     การรักษาโดยการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นใหม่ เรียกว่า ACL reconstruction เป็นการนำเอ็นส่วนอื่นมาทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่มีการฉีกขาดไป โดยใช้การผ่าตัดส่องกล้องผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปในข้อเข่า เพื่อเจาะรูที่กระดูกเลียนแบบจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้าแล้วนำเอ็นใหม่ที่ยืมมาจากส่วนอื่นของร่างกายเข้าไปใส่ทดแทนและยึดตรึงให้มั่นคง หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรฟื้นฟูสภาพตามขั้นตอน เพื่อให้สามารถงอและเหยียดข้อเข่าได้เต็มที่ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ฝึกเคลื่อนไหวร่างกายและข้อเข่า เพื่อให้กลับไปเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพก่อนจะกลับไปเล่นกีฬาประมาณ 6 – 9 เดือน

 

บทความโดย รศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A

     การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกครั้งที่นักกีฬาไทยของเราประสบความสำเร็จ โดยเหรียญรางวัลเหรียญแรกของเราเป็นความสามารถของวิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันแบดมินตันชายเดี่ยว เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในขณะที่การแข่งขันแบดมินตันหญิงเดี่ยวนั้นเราได้เห็นภาพประทับใจในสปิริตนักกีฬาที่ เหอ ปิง เจียว นักกีฬาชาวจีนถือเข็มสัญลักษณ์ทีมชาติสเปนขณะขึ้นรับเหรียญรางวัล เพื่อเป็นการให้เกียรติกับคาโรลินา มาริน อดีตมือ 1 ของโลกชาวสเปนที่ได้รับบาดเจ็บที่เข่าในการแข่งขันรอบตัดเชือกกับเธอ จนต้องถอนตัวจากการแข่งขันและไม่ได้เหรียญรางวัลใด ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

 

มารินบาดเจ็บอย่างไร

     แบดมินตันเป็นกีฬาที่ต้องการการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนขาและข้อเข่าต้องรับแรงกระแทกมากมาย อีกทั้งร่างกายต้องมีการรักษาการทรงตัวขณะเคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทางไปมา การบาดเจ็บของมารินในครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เธอกระโดดตีลูกท้ายคอร์ตฝั่งขวา แล้วเกิดเข่าขวาบิดขณะลงสู่พื้น ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าที่อยู่ภายในข้อเข่า มารินเป็นอดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกริโอ 2016 เคยผิดหวังมาแล้วก่อนหน้านี้จากเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเช่นกัน ที่ทำให้เธอพลาดการป้องกันแชมป์ในโอลิมปิกโตเกียว 2020 การบาดเจ็บที่ปารีสครั้งนี้จึงเป็นเสมือนฝันร้ายสำหรับเธอที่หวังจะคว้าเหรียญโอลิมปิกอีกครั้ง

 

เอ็นไขว้หน้าอยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร

     เอ็นไขว้หน้า ตามศัพท์ทางการแพทย์จะเรียกว่า anterior cruciate ligament  หรือมีอักษรย่อคือ ACL เป็นเอ็นที่อยู่ภายในข้อเข่า ทอดเฉียงจากกระดูกต้นขาไปยังกระดูกแข้ง มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเอ็นไขว้หน้าจะป้องกันการเคลื่อนของกระดูกแข้งมาทางด้านหน้าต่อกระดูกต้นขา อีกทั้งป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่าอีกด้วย เปรียบเสมือนเบรคของข้อเข่านั่นเอง เนื่องจากเอ็นบริเวณกลางข้อเข่ามีการวางตัวไขว้กันสองเส้นจึงเรียกว่า เอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลัง การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้านั้นพบบ่อยจนในข่าวกีฬาต่างประเทศเมื่อมีนักกีฬาบาดเจ็บก็จะพาดหัวข่าวโดยใช้คำว่า ACL injury ก็จะเป็นที่เข้าใจกันสำหรับผู้อ่านเลยทีเดียว

 

เอ็นไขว้หน้าขาดวินิจฉัยได้อย่างไร

     แพทย์จะวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าขาดจากการรวบรวมข้อมูลจากการสอบถามประวัติกลไกการบาดเจ็บ ตรวจร่างกายประเมินข้อเข่าและตรวจยืนยันด้วยเอ็มอาร์ไอ

     การฉีกขาดเอ็นไขว้หน้านั้นมีกลไกการบาดเจ็บได้ทั้งในลักษณะที่มีหรือไม่มีการปะทะก็ได้  โดยส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เกิดการบาดเจ็บโดยไม่มีการปะทะเหมือนที่มารินเข่าบิดขณะลงสู่พื้นด้วยขาข้างเดียว ในนักกีฬาฟุตบอลหรือบาสเกตบอลก็อาจเกิดเข่าบิดได้ขณะที่มีการวิ่งเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นผู้ป่วยมักรู้สึกว่า มีเสียงลั่นในข้อเข่าจากเอ็นที่ขาดร่วมกับปวดรุนแรงทันที ส่วนใหญ่ไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้  ข้อเข่ามักมีอาการบวมขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากมีเลือดออกภายในข้อเข่า

     แพทย์จะตรวจร่างกายประเมินข้อเข่าพบว่ามีภาวะข้อหลวมอันเนื่องมาจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไป มีการเคลื่อนของกระดูกแข้งมาทางด้านหน้าต่อกระดูกต้นขาได้มากกว่าปกติ หรือข้อเข่าสามารถบิดหมุนได้มากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เอกซเรย์จะไม่พบความผิดปกติของกระดูก วิธีการตรวจยืนยันที่มีความแม่นยำสูงคือ เอ็มอาร์ไอ เพื่อสร้างภาพในหลายระนาบเพื่อประเมินการบาดเจ็บของโครงสร้างภายในข้อเข่า เช่น เส้นเอ็น หมอนรองข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ เป็นต้น

 

การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาด

     การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด มีหลายปัจจัยในการพิจารณาเลือกวิธีรักษา เช่น ความต้องการของผู้ป่วยในการใช้งานข้อเข่าทั้งในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬา อายุของผู้ป่วย ความมั่นคงของข้อเข่า การบาดเจ็บร่วมของส่วนประกอบอื่นของข้อเข่า เป็นต้น การเล่นกีฬาทั้งที่มีเอ็นไขว้หน้าขาดแล้วอาจเกิดข้อเข่าบิดซ้ำได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนผิวข้อหรือหมอนรองข้อเข่าเพิ่มเติมขึ้นได้ การบาดเจ็บสะสมนี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น ดังนั้นในนักกีฬาส่วนใหญ่จึงมักเลือกเข้ารับการผ่าตัด

     การรักษาโดยการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นใหม่ เรียกว่า ACL reconstruction เป็นการนำเอ็นส่วนอื่นมาทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่มีการฉีกขาดไป โดยใช้การผ่าตัดส่องกล้องผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปในข้อเข่า เพื่อเจาะรูที่กระดูกเลียนแบบจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้าแล้วนำเอ็นใหม่ที่ยืมมาจากส่วนอื่นของร่างกายเข้าไปใส่ทดแทนและยึดตรึงให้มั่นคง หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรฟื้นฟูสภาพตามขั้นตอน เพื่อให้สามารถงอและเหยียดข้อเข่าได้เต็มที่ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ฝึกเคลื่อนไหวร่างกายและข้อเข่า เพื่อให้กลับไปเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพก่อนจะกลับไปเล่นกีฬาประมาณ 6 – 9 เดือน

 

บทความโดย รศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง