เคล็ดลับการปฐมพยาบาล อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายด้วย R.I.C.E

    การออกกำลังกาย นั้นมีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต การมีสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เราจึงเห็นว่าหลายต่อหลายคน ต่างหันมาทำทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง บ้างก็ออกกำลังกาย กินอาหารเสริม ควบคุมอาหาร แต่ถึงอย่างไรวิธีที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการออกกำลังกายนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกของการออกกำลังกายหลายรูปแบบ หลายประเภทก็ได้รับความนิยมจากอิทธิพลของสื่อออนไลน์ เช่น เซิร์ฟสเก็ต ที่เป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่นิยมในปัจจุบัน ขึ้นชื่อว่ากีฬาแล้วแน่นอนว่าจำเป็นต้องผ่านการฝึกซ้อมจึงจะสามารถเล่นได้อย่างชำนาญ อีกทั้งยังถือเป็นการออกกำลังกายอีกด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายประเภทใดบางครั้งก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังนั้น ผู้เล่นจึงจำเป็นต้องรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้องตั้งแต่ช่วงแรก ที่จะช่วยบรรเทาอาการ และลดระยะเวลาในการรักษาลงได้ นอกจากนั้น การเตรียมความพร้อมของร่างกายก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการออกกำลังกาย  

   การบาดเจ็บส่วนใหญ่มักเป็นการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณแขนขา เกิดการฟกช้ำ หรือมีการบาดเจ็บของเอ็นบริเวณข้อต่อ การปฐมพยาบาลมีวัตถุประสงค์ในการลดอาการปวดและบวม โดยใช้หลักที่มีตัวย่อว่า R.I.C.E ซึ่งเมื่อถอดรหัสออกมาจะได้แนวทางดังนี้

 

  • R-Rest พักส่วนที่มีการบาดเจ็บ ไม่ควรฝืนเล่นกีฬาต่อทั้งที่มีอาการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้การบาดเจ็บดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้นได้ หากเป็นส่วนขาอาจพิจารณาใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินถ้ามีอาการปวดมากตอนลงน้ำหนัก
  • I-Ice การประคบเย็น จะช่วยให้หลอดเลือดขนาดเล็กในเนื้อเยื่อที่มีการฉีกขาดจากการบาดเจ็บเกิดการหดตัว ช่วยลดอาการปวดและบวมลงได้ การประคบเย็นอย่างง่ายก็สามารถใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วประคบบริเวณที่มีการบาดเจ็บครั้งละ 10 ถึง 15 นาที ในช่วงแรกอาจประคบทุก 1 ถึง 2 ชั่วโมง เมื่ออาการทุเลาก็สามารถลดการประคบลงได้ การประคบเย็นมีความสำคัญในช่วง 2 ถึง 3 วันแรกหลังการบาดเจ็บ
  • C-Compression การพันผ้ายืดบริเวณที่มีการบาดเจ็บให้กระชับ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการบวม หากเป็นการพันบริเวณข้อจะช่วยพยุงข้อและลดการเคลื่อนไหวบางส่วน การพันผ้ายืดควรพันจากส่วนปลายไปหาส่วนต้น หลีกเลี่ยงการพันแน่นจนเกินไปเพราะจะรบกวนการไหลเวียนหลอดเลือดดำ ทำให้ส่วนปลายของแขนขาบวมมากขึ้นได้
  • E-Elevation ยกแขนขาส่วนที่มีการบาดเจ็บให้อยู่สูง ตอนนอนก็ควรใช้ผ้าหรือหมอนมารองให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ หากเป็นการบาดเจ็บของส่วนขาควรหลีกเลี่ยงการยืน เดินต่อเนื่อง หรือนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน

หากมีอาการปวดรุนแรง รบกวนการเคลื่อนไหวหรือการใช้งานในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือมีอาการบวมหรือช้ำมากบริเวณที่มีการบาดเจ็บควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ

ข้อมูลจาก : รศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A

หากมีอาการปวดรุนแรง รบกวนการเคลื่อนไหวหรือการใช้งานในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือมีอาการบวมหรือช้ำมากบริเวณที่มีการบาดเจ็บควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ

ข้อมูลจาก : รศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A

 


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง