
น้ำในหูไม่เท่ากัน ควรทำอย่างไร?
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันคืออะไร
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือโรคมีเนียร์ (Meniere’s disease) เป็นภาวะที่มีน้ำในหูชั้นในคั่งหรือมีความดันเพิ่มขึ้นซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการสร้างน้ำในหูชั้นในมากขึ้น ท่อทางเดินน้ำในหูชั้นในตีบแคบทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก หรือมีการดูดซึมน้ำในหูชั้นในกลับน้อยกว่าปกติ พบได้บ่อยในช่วงอายุ 40-60 ปี ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดความผิดปกติในหูข้างเดียว แต่ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10-25 เป็นโรคนี้ในหูทั้งสองข้าง
เมื่อน้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีอาการอย่างไร
อาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน เกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ มากมายนอกเหนือไปจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งได้แก่ ประสาททรงตัวอักเสบ หินปูนหลุดในหูชั้นใน ไมเกรน โรคของสมอง โรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือแม้แต่พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น แต่ถ้าจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน นอกจากจะมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงหรือรู้สึกหมุนนานกว่า 20 นาทีจนถึงหลายชั่วโมงแล้ว จะต้องมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกแน่นตื้อๆ ในหู มีเสียงรบกวนในหู ซึ่งอาจดังต่อเนื่องหรือดังเป็นพักๆ ผู้ป่วยบางรายบอกว่าเหมือนมีเสียงลมพัดอยู่ในหู และจะมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลงด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ เหล่านี้ราว 1-2 วัน แล้วค่อยๆ ดีขึ้นจนกลับมาเป็นปกติสักระยะหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งความถี่ของอาการเวียนศีรษะก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายเกิดอาการทุกเดือน บางรายเป็นปีละครั้งสองครั้งเท่านั้น และความรุนแรงก็ต่างกัน ส่วนการได้ยินที่ลดลง ในระยะแรกจะเกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะ เมื่ออาการเวียนศีรษะหายไปการได้ยินจะกลับดีขึ้น แต่ในระยะหลังของโรค การได้ยินจะค่อยๆ เสื่อมลงจนถึงหูตึงมากได้
แยกอาการเวียนศีรษะจากน้ำในหูไม่เท่ากัน ออกจากอาการเวียนศีรษะจากโรคอื่น ๆ ได้อย่างไร
น้ำในหูไม่เท่ากันเป็นโรคซึ่งมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยแน่ชัดคือ มีอาการแน่นในหู มีเสียงในหู เวียนศีรษะบ้านหมุน และได้ยินลดลง ดังนั้น นอกจากอาการเวียนศีรษะซึ่งจะเป็นนานประมาณครึ่งชั่วโมงขึ้นไปแล้ว ถ้าตรวจการได้ยินก็จะพบว่าหูข้างที่เป็นได้ยินลดลงกว่าอีกข้าง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เหมือนกับการเวียนศีรษะจากโรคอื่น เช่น โรคหินปูนหลุดในหูชั้นใน ซึ่งจะเวียนหมุนประมาณครึ่งนาทีเฉพาะขณะล้มตัวลงนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง และการได้ยินปกติ ส่วนเวียนศีรษะจากประสาททรงตัวอักเสบจะเวียนหมุนคลื่นไส้อาเจียนมากอยู่ 1-2 วันโดยการได้ยินปกติเช่นกัน ดังนั้นการเวียนศีรษะจากแต่ละโรคก็จะมีอาการแตกต่างกันออกไป
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติความเจ็บป่วยในปัจจุบันและอดีต รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไปและอาจส่งตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม การตรวจร่างกายจะเน้นที่ระบบหู คอ จมูกและระบบประสาทเพื่อแยกจากอาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคทางสมอง นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจคลื่นไฟฟ้าของหูชั้นใน ตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง และตรวจประสาททรงตัวโดยใช้เครื่องมือพิเศษ หรือการตรวจอื่นซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
สาเหตุของการเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่ก็มีการศึกษาและตั้งสมมุติฐานของโรคไว้หลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดการดูดซึมของน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือมีการอุดกั้นของเส้นทางการไหลเวียนของน้ำในหูชั้นใน สมมุติฐานเหล่านั้น ได้แก่
- โครงสร้างของทางไหลเวียนของน้ำในหูชั้นในผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- โรคทางพันธุกรรม
- ปฎิกิริยาภูมิแพ้
- ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน
- การติดเชื้อไวรัส, การติดเชื้อจากหูชั้นกลาง หรือการติดเชื้อซิฟิลิส
- อุบัติเหตุรุนแรงที่ศีรษะ
- ความผิดปกติของระบบเผาผลาญและฮอร์โมน ตลอดจนการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น
รักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้อย่างไร
ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำวิธีปฏิบัติตนทั่ว ๆ ไปคือ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และแพทย์จะให้ยาเพื่อควบคุมอาการเวียนศีรษะ ซึ่งต้องค่อยๆ ปรับชนิดและปริมาณยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ด้วยยารับประทาน แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาผ่านเยื่อแก้วหูเข้าไปในหูชั้นกลางเพื่อให้ยาซึมผ่านเข้าไปออกฤทธิ์ที่หูชั้นใน หรือในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลอาจต้องผ่าตัด แต่ก็เป็นส่วนน้อย
โรคนี้โดยทั่วไปถือว่าไม่หายขาด แต่การใช้ยาจะสามารถควบคุมอาการเวียนศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามเป็นปกติ
เราจะบรรเทาอาการด้วยตนเองและป้องกันโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้อย่างไร
มีวิธีบรรเทาอาการที่เกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากันด้วยตัวเองหรือไม่
อาการหลักที่เป็นปัญหาคืออาการเวียนศีรษะ ดังนั้นต้องระวังอันตรายซึ่งเป็นผลมาจากอาการเวียนศีรษะ เช่น เวียนศีรษะขณะขับรถ ว่ายน้ำ หรือกำลังปีนป่ายในที่สูง ต้องหยุดกิจกรรมทันทีแล้วนั่งหรือนอนพัก รับประทานยาแก้เวียนศีรษะ ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่นเพิ่ม เช่น ชา อ่อนแรง ตามัว พูดไม่ชัด ควรพบแพทย์
เราจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้อย่างไร
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ต้นเหตุ แต่ก็ไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรง โดยทั่วไปแล้วอาการเวียนศีรษะมักจะทิ้งช่วงห่างออกไปเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม และมารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง ก็จะควบคุมอาการเวียนศีรษะได้และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ข้อมูลจาก : รศ.พญ. สุวัจนา อธิภาส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 3 โซน D
ข้อมูลจาก : รศ.พญ. สุวัจนา อธิภาส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 3 โซน D