
เจ็บข้อเท้าอย่าฝืน คุณอาจเสี่ยง “ข้อเท้าเสื่อม”
ข้อเท้าเสื่อม เป็นภาวะที่ผิวกระดูกอ่อนบริเวณข้อเท้าสึกหรอ และเสื่อมไปอย่างช้าๆ ทำให้ผิวสัมผัสบริเวณข้อเท้าไม่เรียบ เวลามีการขยับหรือเคลื่อนไหวเกิดอาการสะดุด ฝืด หรือขัดได้ ซึ่งนำไปสู่อาการเจ็บเวลาเดิน
สาเหตุ
ข้อเท้าเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้น้อย หากมีการบาดเจ็บจากข้อเท้า เช่น ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงบ่อยๆทำให้เอ็นข้อเท้าฉีกขาด และเกิดความผิดปกติของการรับน้ำหนักที่ผิวกระดูกอ่อน
ข้อเท้าเป็นส่วนที่มีการใช้งานเป็นประจำทุกวันเวลายืน เดิน ดังนั้นการที่บริเวณใดของข้อเท้าต้องรับน้ำหนักมากกว่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการเสื่อม สึกหรอ หรือผุกร่อนไป เกิดเป็นภาวะข้อเท้าเสื่อมตามมา
นอกจากนี้ภาวะที่ผิวกระดูกอ่อนได้รับบาดเจ็บโดยตรง เช่น กระดูกข้อเท้าหรือกระดูกหน้าแข้งส่วนปลายหัก หรือภาวะที่ข้อเท้ามีการอักเสบบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุของการที่เกิดข้อเท้าเสื่อมตามมาได้
ใครที่มีความเสี่ยงเป็นข้อเท้าเสื่อม
- ผู้ที่มีประวัติข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลงบ่อย ๆ
- ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของข้อเท้าบ่อย ๆ
- ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บจากกระดูกข้อเท้าหัก
- คนที่มีน้ำหนักตัวมาก
อาการ
- เริ่มเจ็บเวลายืนหรือเดินนาน ๆ บริเวณข้อเท้า
- ข้อเท้าบวมขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็น
- ข้อเท้าผิดรูปเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
- มีอาการปวดมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือเวลานั่งนาน
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผิวกระดูกที่เสื่อมให้กลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้นการรักษาข้อเท้าเสื่อมส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การให้ยาระงับปวด ยาแก้อักเสบ (ตามคำแนะนำของแพทย์) การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเท้าเวลายืนเดิน รวมถึงการปรับรองเท้าเพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนัก
อย่างไรก็ตามถ้าการรักษาด้วยวิธีการประคับประคองไม่ได้ผล สามารถเลือกรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของข้อเท้าที่เสื่อม เช่น วิธีผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดรูปของข้อเท้า ผ่าตัดปลูกถ่ายผิวกระดูกอ่อน ถ้าข้อเสื่อมเป็นมากในระยะท้าย ๆ สามารถผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า หรือเปลี่ยนข้อเท้าเทียม เพื่อช่วยให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นสูง เพราะอาจทำให้ข้อเท้าพลิกได้
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน
- ไม่ใช้งานข้อเท้าที่ผิดท่าบ่อย ๆ
หากใครมีปัญหาเรื่องข้อเท้าเสื่อม หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับข้อเท้า ควรพบแพทย์เฉพาะทางศูนย์ออร์โธปิดิกส์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดทันที
ข้อมูลจาก : ผศ.นพ. ธีรวุฒิ ธรรมวิบูลย์ศรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A
ข้อมูลจาก : ผศ.นพ. ธีรวุฒิ ธรรมวิบูลย์ศรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ชั้น 2 โซน A