โรคปลอกประสาทอักเสบ

    โรคปลอกประสาทอักเสบ (Demyelinating Disease) ของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นโรคที่มีการอักเสบของปลอกประสาทที่หุ้มเส้นประสาทในส่วนของสมอง เส้นประสาทตา และไขสันหลัง โดยปลอกประสาทมีหน้าที่ในการนำกระแสประสาท เมื่อมีการอักเสบของปลอกประสาทจะส่งผลให้การนำกระแสประสาทของอวัยวะนั้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ เช่น เส้นประสาทตาอักเสบมีอาการตามัว มองไม่ชัด หรือไขสันหลังอักเสบมีอาการขาสองข้างอ่อนแรง เป็นต้น

     โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางที่พบบ่อยมี 2 โรค ได้แก่ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis - MS) และนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา (Neuromyelitis Optica - NMO) ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า โรคเอ็มเอส และโรคเอ็นเอ็มโอ ทั้ง 2 โรคมีลักษณะอาการคล้ายกัน แต่แตกต่างในส่วนของสาเหตุ กลไกการเกิดโรค รวมถึงการรักษา ซึ่งในปัจจุบัน 2 โรคนี้สามารถรักษาได้ โดยต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ถูกต้อง เนื่องจากอาการของโรคไม่จำเพาะต่อโรคใดโรคหนึ่ง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและชัดเจน เพื่อการรักษาระยะยาว

การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อแยกโรค

  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging - MRI) ตรวจในส่วนที่มีอาการ เช่น ไขสันหลัง เส้นประสาทตา และสมอง ทำให้เห็นภาพที่ละเอียดมากพอต่อการวินิจฉัยโรคมากกว่าภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การตรวจจอประสาทตาโดยใช้เครื่องมือพิเศษ ได้แก่ ภาพถ่ายจอประสาทตา การตรวจการนำกระแสประสาทตา และการตรวจความหนาจอประสาทตา
  • การตรวจเลือด ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคและวางแผนการรักษา
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค โดยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งจะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติและตรวจพบโปรตีนสูงขึ้น บ่งชี้การอักเสบของระบบประสาทได้

โรคนี้มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ อายุเฉลี่ย 20 – 40 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ชนชาติ (คนไทยพบน้อย)
  • เชื้อไวรัสบางชนิด (เชื้ออีบีวี)
  • ระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ
  • การสูบบุหรี่

กลไกการเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส

     เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไชต์ ซึ่งอยู่ภายในต่อมน้ำเหลืองได้รับการกระตุ้นจากสารบางชนิด และมีกลไกกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ออกจากต่อมน้ำเหลืองผ่านเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ เส้นประสาทตา สมอง และไขสันหลัง เกิดการทำลายปลอกประสาทหรือปลอกมัยอิลินที่หุ้มอยู่รอบเส้นประสาท ซึ่งปลอกประสาทมีหน้าที่ในการส่งต่อกระแสประสาทให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการอักเสบ และทำลายปลอกประสาท ทำให้การนำกระแสประสาททำได้ช้าลง เกิดอาการผิดปกติต่างๆ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการพร้อมกันได้

อาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส

  • เส้นประสาทตาอักเสบ ทำให้มีอาการตามัวลงอย่างเฉียบพลันในเวลาเป็นวันถึงหลายสัปดาห์ ความรุนแรงเป็นไปตั้งแต่ ตามัวเพียงเล็กน้อยไปจนถึงตามืดบอดสนิท อาการตามัวมักเป็นตาข้างเดียวและภาพที่มองไม่ชัดมักเริ่มจากบริเวณตรงกลางของลานสายตา อาการอื่นที่พบร่วม ได้แก่ กลอกตาแล้วเจ็บภายในเบ้าตา
  • ไขสันหลังอักเสบ ชาบริเวณแขน ขา ลำตัว กล้ามเนื้อแขนหรือขาอ่อนแรง การควบคุมขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะอุจจาระไม่ออกหรือกลั้นไม่อยู่
  • ปลอกประสาทในสมองอักเสบ เห็นภาพซ้อน เดินเซ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ความรู้สึกตัวลดลง
  • เกร็งกล้ามเนื้อแขนขาเป็นพักๆ ระยะเวลาครั้งละประมาณ ½ - 1 นาทีแล้วคลายตัวได้เอง

 

 

การรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส

การรักษาประกอบด้วย การรักษาจำเพาะ และการรักษาอาการต่างๆ ของโรค

1. การรักษาจำเพาะ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • การรักษาระยะกำเริบเฉียบพลัน การรักษาหลักในปัจจุบันคือ การฉีดยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือด 3 – 7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และรับประทานยาสเตียรอยด์ต่อหลังจากฉีดยาเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 – 2 สัปดาห์
  • การรักษาระยะยาว เนื่องจากโรคมีการกำเริบเป็นระยะ จึงต้องมียาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมีหลายชนิดในประเทศไทย (พ.ศ. 2565) มีทั้งชนิดยาฉีดใต้ผิวหนัง ยารับประทาน และยาฉีดทางหลอดเลือด กรณีที่การตอบสนองต่อยาไม่ค่อยดี หรือโรคที่เป็นรุนแรง สามารถเลือกใช้ยาชนิดอื่นที่มีผลป้องกันการกำเริบได้ แต่มีผลข้างเคียงมากกว่ายาข้างต้น

     **ยาทุกชนิดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียง จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด**

2. การรักษาอาการต่างๆ ของโรค ได้แก่

  • อาการเกร็งของแขนขา มีสองลักษณะคือ อาการเกร็งระยะสั้น นานเป็นวินาทีถึง 1 นาที มักตอบสนองต่อยากันชักบางชนิด และอาการเกร็งต่อเนื่อง มักจะมีอาการเกร็งตลอดเวลา รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ฉีดยาลดเกร็งหรือรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ
  • อาการปวด บางรายอาจมีอาการปวดจากระบบประสาทส่วนกลาง สามารถใช้ยาควบคุมอาการปวดได้ ซึ่งมีหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาตามอาการ
  • อาการเดินเซ เวียนศีรษะ รักษาโดยการรับประทานยาบรรเทาอาการ และการทำกายภาพบำบัด

การดำเนินโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส

     โรคนี้มีอาการกำเริบเป็นพักๆ โดยอาการอาจเป็นรูปแบบเดิม หรือเกิดอาการใหม่จากการอักเสบตำแหน่งใหม่ การกำเริบมักเกิดในช่วงปีแรกๆ ของโรค เฉลี่ยกำเริบ 1 - 2 ครั้งต่อปี เมื่อเป็นมานานอาการกำเริบมักจะห่างขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสกำเริบร้อยละ 1 อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีการดำเนินโรคแบบรุดหน้า คือ อาการค่อยๆ เป็นมากขึ้นโดยไม่มีช่วงเวลาที่โรคกำเริบชัดเจน

     ในแต่ละครั้งที่โรคกำเริบ อาการมักจะดีขึ้นได้เอง หรือดีขึ้นจากยาสเตียรอยด์ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในเวลาเป็นสัปดาห์ถึงเป็นเดือน

     ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถฟื้นตัวจนหายกลับเป็นปกติ บางรายฟื้นตัวดีขึ้นเพียงบางส่วน ไม่หายกลับเป็นปกติ ทำให้เกิดความทุพพลภาพขึ้น เมื่อมีการกำเริบของโรคในแต่ละครั้งแล้วไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าปกติ อาจเพิ่มความทุพพลภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ได้

โรคนี้มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงอายุมากกว่า 80 ปี พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ชนชาติ (คนไทย คนประเทศแถบเอเชียพบบ่อยกว่าชาติชนผิวขาว)
  • เชื้อไวรัสบางชนิด (เชื้ออีบีวี)

กลไกการเกิดโรคนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา หรือโรคเอ็นเอ็มโอ

     ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีการสร้างสารต่อต้านภูมิหรือแอนติบอดี (Antibody) โดยเม็ดเลือดขาว ปล่อยเข้าในกระแสเลือดผ่านไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทตา สารต่อต้านภูมิจะไปจับกับตัวรับสาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผนังเซลล์ ทำหน้าที่เป็นช่องการผ่านของน้ำ (Aquaporin Channel) ที่อยู่บนผิวเซลล์ของระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อสารต่อต้านภูมิจับกับตัวรับสาร จะเกิดการทำลายเซลล์ทำให้เกิดอาการผิดปกติ

     สารต่อต้านภูมินี้ไม่พบในคนทั่วไป แต่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเอ็นเอ็มโอ สาเหตุที่ร่างกายสร้างสารต่อต้านภูมินี้ยังไม่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่สามารถรักษาที่จุดกำเนิดโรคได้

อาการโรคนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา หรือโรคเอ็นเอ็มโอ

     โรคเอ็นเอ็มโอจะมีอาการเส้นประสาทตาอักเสบ ปลอกประสาทในสมองอักเสบ เกร็งกล้ามเนื้อแขนขาเป็นพักๆ เหมือนกับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง แต่อาการไขสันหลังอักเสบ มักรุนแรงกว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และฟื้นตัวน้อยกว่า ซึ่งจะมีอาการชาบริเวณแขน ขา ลำตัว กล้ามเนื้อแขนหรือขาอ่อนแรง โดยอาการชาหรืออ่อนแรงอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และมีความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละข้าง การควบคุมขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะอุจจาระไม่ออกหรือกลั้นไม่อยู่

 

 

การรักษาโรคนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา หรือโรคเอ็นเอ็มโอ

การรักษาประกอบด้วย การรักษาจำเพาะ และการรักษาอาการต่างๆ ของโรค

1. การรักษาจำเพาะ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • การรักษาระยะกำเริบเฉียบพลัน การรักษาหลักในปัจจุบันคือ การฉีดยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือด 3 – 7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และรับประทานยาสเตียรอยด์ต่อหลังจากฉีดยา กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาสเตียรอยด์แล้วอาการดีขึ้นน้อย แพทย์อาจพิจารณาการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasma Exchange) 5 – 7 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • การรักษาระยะโรคสงบ เนื่องจากโรคมีการกำเริบเป็นระยะ จึงต้องมียาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมีหลายชนิดในประเทศไทย (พ.ศ. 2565) มีทั้งยารับประทาน และยาฉีดทางหลอดเลือด

     กรณีดื้อยาหรือโรคเป็นรุนแรง สามารถเลือกยาชนิดอื่นที่มีผลป้องกันการกำเริบได้ ยาทุกชนิดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียง จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

2. การรักษาอาการต่างๆ ของโรค ได้แก่

  • อาการเกร็งของแขนขา มีสองลักษณะคือ อาการเกร็งระยะสั้น นานเป็นวินาทีถึง 1 นาที มักตอบสนองดีมากต่อบางชนิด และอาการเกร็งต่อเนื่อง มักจะมีอาการเกร็งตลอดเวลา รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ฉีดยาลดเกร็งหรือรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ
  • อาการปวด แสบร้อน บางรายอาจมีอาการปวดจากระบบประสาทส่วนกลาง สามารถใช้ยาลดอาการปวดได้ ซึ่งมีหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาตามอาการ
  • อาการเดินเซ เวียนศีรษะ รักษาโดยการรับประทานยาบรรเทาอาการ และการทำกายภาพบำบัด

การดำเนินโรคนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกา หรือโรคเอ็นเอ็มโอ

     โรคนี้มีอาการกำเริบเป็นพักๆ โดยอาการอาจเป็นรูปแบบเดิม หรือเกิดอาการใหม่ที่แตกต่างจากลักษณะเดิมได้ การกำเริบมักเกิดในช่วงปีแรกๆ ของโรค เฉลี่ยกำเริบ 1 - 2 ครั้งต่อปี เมื่อเป็นมานานอาการกำเริบมักจะห่างขึ้น

     ในแต่ละครั้งที่โรคกำเริบ อาการมักจะดีขึ้นได้เอง หรือดีขึ้นจากยาฉีดที่ได้รับ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในเวลาเป็นสัปดาห์ถึงเป็นหลายเดือน

     ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถฟื้นตัวจนหายกลับเป็นปกติ บางรายฟื้นตัวดีขึ้นเพียงบางส่วน ไม่หายกลับเป็นปกติ ทำให้เกิดความทุพพลภาพขึ้น เมื่อมีการกำเริบของโรคในแต่ละครั้งแล้วไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าปกติ อาจเพิ่มความทุพพลภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ อาการที่หลงเหลืออยู่อาจมีอาการมากหรือน้อยแต่ละวันได้ เช่น อาการชาอาจมีบางวันชามาก บางวันชาน้อย

ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง