เช็กอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง?

สตรีวัยทอง หรือ สตรีวัยหมดระดู คือสตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจอันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิง โดยจะวินิจฉัยเมื่อขาดระดูไปนาน 1  ปี อายุเฉลี่ยของสตรีที่เข้าสู่วัยหมดระดูคือ 50 ปี โดยสตรีร้อยละ 95 จะหมดระดูในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปี รวมถึงสตรีที่หมดระดูก่อนวัยอันเนื่องมาจากถูกผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง ก็จะมีผลต่างๆ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับสตรีที่หมดระดูตามธรรมชาติ

ปัญหาของสตรีวัยหมดระดู

ปัญหาต่างๆ ของสตรีวัยหมดระดูเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน และผลจากความชราหรือกระบวนการเปลี่ยนตามวัย (aging process) ได้แก่

1.อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู (Menopausal related symptoms)

อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ปวดศีรษะ หลงลืม ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ใจสั่น  ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก และความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงวัยใกล้หมดระดู และมีอาการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูใน 2 ปีแรก

   1.1 อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก

อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน นับเป็นอาการจำเพาะที่สุดของอาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู มักจะเป็นมากในช่วงวัยใกล้หมดระดูและในสตรีวัยหมดระดู พบมากในระยะ 1-2 ปีแรกหลังหมดระดู ส่วนใหญ่อาการก็หายไปได้เอง อาการร้อนมักเริ่มที่หน้า คอ ศีรษะหรือหน้าอก และมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น บางรายจะมีอาการใจสั่น ระยะเวลาที่มีอาการ อาจนานเพียงไม่กี่วินาทีไปจนถึงหลายนาที และความถี่ตลอดจนความรุนแรงไม่สม่ำเสมอ  เกิดได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนแม้ในขณะหลับ โดยในเวลากลางคืนมักจะมีความถี่และความรุนแรงมากกว่าในเวลากลางวันทำให้ตื่นขึ้นและนอนไม่หลับ มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อน หงุดหงิดอ่อนเพลีย อาจเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ  

การดูแลรักษา : อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากสามารถหายไปได้เอง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง ถ่ายเทความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อยู่ในสถานที่ที่อากาศเย็น แต่ในรายที่มีอาการมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นอาการวัยทองหรือมีโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายอาการวัยทอง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในสตรีที่มีอาการมาก ต้องให้การรักษาเพื่อลดอาการ การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ในรายที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนรักษาได้ก็ยังมียาในกลุ่มที่ไม่ใช่ฮอร์โมนที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ การรักษาด้วยยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

  1.2 การเหี่ยวฝ่อของผิวหนัง

ผิวหนังจะเหี่ยวแห้งและบางลงเกิดรอยช้ำได้ง่าย คัน เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วง หรือบางลง เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน และผลจากความชราหรือกระบวนการเปลี่ยนตามวัย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน ความหนาของผิวหนังลดลงหลังหมดระดู โดยอาจสูญเสียคอลลาเจนถึงร้อยละ 30 ในระยะ 10 ปีแรก การรักษาโดยให้เอสโทรเจนจะช่วยให้ระดับคอลลาเจนของผิวหนังกลับเข้าสู่ระดับก่อนหมดระดูได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้ริ้วรอยบนใบหน้าดีขึ้น นอกจากนั้น การเหี่ยวฝ่อของผิวหนังยังทำให้การผลิตวิตามินดีที่ผิวหนังลดลงด้วย

การดูแลรักษา : การช่วยลดอาการคันจากผิวแห้ง ได้แก่ ลดการใช้สบู่หรือใช้สบู่อ่อนเวลาอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น การใช้ครีมหรือน้ำมันทาผิวภายหลังอาบน้ำ

  1.3 อาการทางจิตใจ

พบภาวะซึมเศร้า อาการกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน นอนไม่หลับได้บ่อยขึ้น ไม่มีหลักฐานว่าอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน พบว่าอาการทางจิตใจส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต และความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความชรา รวมถึงการสูญเสียความสวยงามทางร่างกาย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมด้วย พบอาการซึมเศร้าได้บ่อยในรายที่เป็นกลุ่มอาการก่อนมีระดู

การดูแลรักษา : ความรุนแรงของปัญหานี้จะลดลงได้ หากได้รับความเข้าใจและการเอาใจใส่จากบุคคลรอบข้าง การหากิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยให้สตรีวัยนี้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า

  1.4 อาการซึ่งเกิดจากการเหี่ยวฝ่อของระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

การขาดเอสโทรเจน ทำให้เกิดการฝ่อและการลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะ ทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศบางลง ขนน้อยลง ปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นลงและแห้ง ซีด ผนังช่องคลอดบาง ซึ่งทำให้เกิดอาการ คัน ระคายเคือง แสบร้อนในช่องคลอด และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ง่าย ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดลง การหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทำให้กะบังลมหย่อนและมดลูกเคลื่อน มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและรอบท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะอ่อนแอลง ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะเล็ด 

การดูแลรักษา : อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการบริหารยาเฉพาะที่ในช่องคลอด เช่น การใช้สารหล่อลื่นช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ การใช้สารให้ความชุ่มชื้นในช่องคลอด และการใช้ฮอรโมนเอสโทรเจนเฉพาะที่ในช่องคลอดซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมโดยการขมิบช่องคลอดบ่อยๆ ทุกวัน จะช่วยลดปัญหาการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น

 

2. โรคหัวใจและหลอดเลือด

การขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) แต่ไขมันดี (HDL) ลดลง ทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตันทั้งที่หลอดเลือดหัวใจและสมอง ยิ่งเข้าวัยทองเร็วเท่าไรอัตราเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคนี้เพิ่มมากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะสตรีที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและมีความเครียดสูง

การดูแลรักษา : เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ดัชนีมวลกาย 18.5-22.9) งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

 

3. โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะสตรีวัยหมดระดู ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย แม้ว่าจะได้รับภยันตรายเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยเฉพาะกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก ซึ่งทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ คุณภาพชีวิตแย่ลง และยังทำให้อัตราตายเพิ่มขึ้น ในระยะ 5 ปีแรกหลังหมดระดูร่างกายจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 20 ของมวลกระดูกทั้งหมด ในสตรีอายุ 70 ปี จะสูญเสียมวลกระดูกไปประมาณร้อยละ 50

การดูแลรักษา : ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง สตรีวัยหมดระดูต้องการแคลเซียมวันละ 1,200-1,500 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย ถั่วเหลือง เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เป็นต้น ให้เลือกรับประทานตามความเหมาะสม แหล่งที่มาของแคลเซียม ควรจะได้มาจากอาหารเป็นอันดับแรก แต่ถ้ายังไม่เพียงพอควรให้รับประทานแคลเซียมเสริม นอกจากแคลเซียมแล้วสตรีวัยหมดระดูควรได้รับวิตามินดี วันละ 400-800 IU สำหรับวิตามินดี เป็นวิตามินที่ทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนอื่นๆ ในการรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายให้คงที่ โดยช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากลำไส้

 

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

สตรีทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเตรียมตัวรับมือก่อนการเปลี่ยนช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยสามารถรับมือง่ายๆ ได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเป็นประจำ
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ โดยเน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ ไม่ควรรับประทานโปรตีนมากเกินไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมมากขึ้นและทำให้ไตต้องทำงานหนักเกินไป เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. เสริมแคลเซียมและวิตามินดี ในกรณีที่ได้จากอาหารไม่เพียงพอ แต่ควรระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  4. ออกกำลังการเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายชนิดแอโรบิก และมีการลงน้ำหนัก (weight-bearing) เสริมสร้างกล้ามเนื้อ (muscle strengthening) เช่น การวิ่งการเดินเร็ว, การเต้นแอโรบิค, การเล่นเทนนิส เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดแอโรบิคจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ในเลือดและเพิ่ม HDL ส่วนการออกกำลังกายแบบ weight-bearing และ muscle strengthening จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้การทรงตัวดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มและกระดูกหักได้
  5. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง
  6. คู่สมรสควรมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับความต้องการและปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์
  7. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ควรได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต การตรวจปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ตรวจภายในและเช็คมะเร็งปากมดลูก การตรวจแมมโมแกรม การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นไปตามข้อบ่งชี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง อาจตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม

ในกรณีที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพชีวิต อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้พูดคุย ปรึกษา เพื่อเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์นรีเวช ชั้น 2 โซน E

 

 

สตรีวัยทอง หรือ สตรีวัยหมดระดู คือสตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจอันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิง โดยจะวินิจฉัยเมื่อขาดระดูไปนาน 1  ปี อายุเฉลี่ยของสตรีที่เข้าสู่วัยหมดระดูคือ 50 ปี โดยสตรีร้อยละ 95 จะหมดระดูในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปี รวมถึงสตรีที่หมดระดูก่อนวัยอันเนื่องมาจากถูกผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง ก็จะมีผลต่างๆ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับสตรีที่หมดระดูตามธรรมชาติ

ปัญหาของสตรีวัยหมดระดู

ปัญหาต่างๆ ของสตรีวัยหมดระดูเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน และผลจากความชราหรือกระบวนการเปลี่ยนตามวัย (aging process) ได้แก่

1.อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู (Menopausal related symptoms)

อาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ปวดศีรษะ หลงลืม ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ใจสั่น  ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก และความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในช่วงวัยใกล้หมดระดู และมีอาการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูใน 2 ปีแรก

   1.1 อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก

อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน นับเป็นอาการจำเพาะที่สุดของอาการที่สัมพันธ์กับวัยหมดระดู มักจะเป็นมากในช่วงวัยใกล้หมดระดูและในสตรีวัยหมดระดู พบมากในระยะ 1-2 ปีแรกหลังหมดระดู ส่วนใหญ่อาการก็หายไปได้เอง อาการร้อนมักเริ่มที่หน้า คอ ศีรษะหรือหน้าอก และมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น บางรายจะมีอาการใจสั่น ระยะเวลาที่มีอาการ อาจนานเพียงไม่กี่วินาทีไปจนถึงหลายนาที และความถี่ตลอดจนความรุนแรงไม่สม่ำเสมอ  เกิดได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนแม้ในขณะหลับ โดยในเวลากลางคืนมักจะมีความถี่และความรุนแรงมากกว่าในเวลากลางวันทำให้ตื่นขึ้นและนอนไม่หลับ มักเกิดร่วมกับอาการเหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อน หงุดหงิดอ่อนเพลีย อาจเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ  

การดูแลรักษา : อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากสามารถหายไปได้เอง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง ถ่ายเทความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อยู่ในสถานที่ที่อากาศเย็น แต่ในรายที่มีอาการมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นอาการวัยทองหรือมีโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายอาการวัยทอง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในสตรีที่มีอาการมาก ต้องให้การรักษาเพื่อลดอาการ การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ในรายที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนรักษาได้ก็ยังมียาในกลุ่มที่ไม่ใช่ฮอร์โมนที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ การรักษาด้วยยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

  1.2 การเหี่ยวฝ่อของผิวหนัง

ผิวหนังจะเหี่ยวแห้งและบางลงเกิดรอยช้ำได้ง่าย คัน เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วง หรือบางลง เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน และผลจากความชราหรือกระบวนการเปลี่ยนตามวัย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน ความหนาของผิวหนังลดลงหลังหมดระดู โดยอาจสูญเสียคอลลาเจนถึงร้อยละ 30 ในระยะ 10 ปีแรก การรักษาโดยให้เอสโทรเจนจะช่วยให้ระดับคอลลาเจนของผิวหนังกลับเข้าสู่ระดับก่อนหมดระดูได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้ริ้วรอยบนใบหน้าดีขึ้น นอกจากนั้น การเหี่ยวฝ่อของผิวหนังยังทำให้การผลิตวิตามินดีที่ผิวหนังลดลงด้วย

การดูแลรักษา : การช่วยลดอาการคันจากผิวแห้ง ได้แก่ ลดการใช้สบู่หรือใช้สบู่อ่อนเวลาอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น การใช้ครีมหรือน้ำมันทาผิวภายหลังอาบน้ำ

  1.3 อาการทางจิตใจ

พบภาวะซึมเศร้า อาการกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย ขาดสมาธิในการทำงาน นอนไม่หลับได้บ่อยขึ้น ไม่มีหลักฐานว่าอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโทรเจน พบว่าอาการทางจิตใจส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับการประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต และความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความชรา รวมถึงการสูญเสียความสวยงามทางร่างกาย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมด้วย พบอาการซึมเศร้าได้บ่อยในรายที่เป็นกลุ่มอาการก่อนมีระดู

การดูแลรักษา : ความรุนแรงของปัญหานี้จะลดลงได้ หากได้รับความเข้าใจและการเอาใจใส่จากบุคคลรอบข้าง การหากิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยให้สตรีวัยนี้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า

  1.4 อาการซึ่งเกิดจากการเหี่ยวฝ่อของระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

การขาดเอสโทรเจน ทำให้เกิดการฝ่อและการลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะ ทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศบางลง ขนน้อยลง ปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นลงและแห้ง ซีด ผนังช่องคลอดบาง ซึ่งทำให้เกิดอาการ คัน ระคายเคือง แสบร้อนในช่องคลอด และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ง่าย ซึ่งทำให้ความต้องการทางเพศลดลง การหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทำให้กะบังลมหย่อนและมดลูกเคลื่อน มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและรอบท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะอ่อนแอลง ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะเล็ด 

การดูแลรักษา : อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการบริหารยาเฉพาะที่ในช่องคลอด เช่น การใช้สารหล่อลื่นช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ การใช้สารให้ความชุ่มชื้นในช่องคลอด และการใช้ฮอรโมนเอสโทรเจนเฉพาะที่ในช่องคลอดซึ่งเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมโดยการขมิบช่องคลอดบ่อยๆ ทุกวัน จะช่วยลดปัญหาการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น

 

2. โรคหัวใจและหลอดเลือด

การขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันเลว (LDL) แต่ไขมันดี (HDL) ลดลง ทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตันทั้งที่หลอดเลือดหัวใจและสมอง ยิ่งเข้าวัยทองเร็วเท่าไรอัตราเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคนี้เพิ่มมากขึ้นตามอายุโดยเฉพาะสตรีที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและมีความเครียดสูง

การดูแลรักษา : เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ดัชนีมวลกาย 18.5-22.9) งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

 

3. โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะสตรีวัยหมดระดู ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย แม้ว่าจะได้รับภยันตรายเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยเฉพาะกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก ซึ่งทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ คุณภาพชีวิตแย่ลง และยังทำให้อัตราตายเพิ่มขึ้น ในระยะ 5 ปีแรกหลังหมดระดูร่างกายจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 20 ของมวลกระดูกทั้งหมด ในสตรีอายุ 70 ปี จะสูญเสียมวลกระดูกไปประมาณร้อยละ 50

การดูแลรักษา : ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง สตรีวัยหมดระดูต้องการแคลเซียมวันละ 1,200-1,500 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย ถั่วเหลือง เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว เป็นต้น ให้เลือกรับประทานตามความเหมาะสม แหล่งที่มาของแคลเซียม ควรจะได้มาจากอาหารเป็นอันดับแรก แต่ถ้ายังไม่เพียงพอควรให้รับประทานแคลเซียมเสริม นอกจากแคลเซียมแล้วสตรีวัยหมดระดูควรได้รับวิตามินดี วันละ 400-800 IU สำหรับวิตามินดี เป็นวิตามินที่ทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนอื่นๆ ในการรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายให้คงที่ โดยช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากลำไส้

 

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

สตรีทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเตรียมตัวรับมือก่อนการเปลี่ยนช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยสามารถรับมือง่ายๆ ได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเป็นประจำ
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ โดยเน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ ไม่ควรรับประทานโปรตีนมากเกินไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากทำให้มีการสูญเสียแคลเซียมมากขึ้นและทำให้ไตต้องทำงานหนักเกินไป เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. เสริมแคลเซียมและวิตามินดี ในกรณีที่ได้จากอาหารไม่เพียงพอ แต่ควรระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  4. ออกกำลังการเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แนะนำให้ออกกำลังกายชนิดแอโรบิก และมีการลงน้ำหนัก (weight-bearing) เสริมสร้างกล้ามเนื้อ (muscle strengthening) เช่น การวิ่งการเดินเร็ว, การเต้นแอโรบิค, การเล่นเทนนิส เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดแอโรบิคจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ในเลือดและเพิ่ม HDL ส่วนการออกกำลังกายแบบ weight-bearing และ muscle strengthening จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้การทรงตัวดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการหกล้มและกระดูกหักได้
  5. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง
  6. คู่สมรสควรมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับความต้องการและปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์
  7. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ควรได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต การตรวจปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ตรวจภายในและเช็คมะเร็งปากมดลูก การตรวจแมมโมแกรม การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นไปตามข้อบ่งชี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในรายที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง อาจตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม

ในกรณีที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพชีวิต อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้พูดคุย ปรึกษา เพื่อเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก!! ศูนย์นรีเวช ชั้น 2 โซน E


ค้นหาแพทย์

สาระสุขภาพ

ศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง